สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงคาร์ทูม ประเทศซูดาน เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ว่า โฆษกประจำกลุ่มผู้ลี้ภัย กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 168 ราย และบาดเจ็บอีก 98 ราย จากการปะทะระหว่างชนเผ่าในเมืองเครย์นิค รัฐดาร์ฟูร์ตะวันตก

การพิพาทที่เกิดขึ้นถือเป็นครั้งล่าสุดของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคที่เหนื่อยล้าจากสงครามเช่นนี้

รัฐดาร์ฟูร์ทางตะวันตก คือบ้านของผู้พลัดถิ่นหลายคนจากความขัดแย้งในภูมิภาคช่วงต้นยุค 2000 ซึ่งเห็นรัฐบาลปราบปรามกลุ่มกบฏติดอาวุธ ด้วยความช่วยเหลือจากกลุ่มติดอาวุธอาหรับเร่ร่อน หรือที่รู้จักกันในชื่อ จันจาวีด

ประชาชนราว 2.5 ล้านคน กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในเหตุรุนแรง และถูกสังหารไปประมาณ 300,000 คน นอกจากนี้ โอมาร์ อัล-บาเชียร์ อดีตประธานาธิบดีซูดาน เป็นที่ต้องการตัวโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในข้อหาอาชญากรรมสงคราม ซึ่งการพิจารณาคดีหนึ่งในผู้ช่วยของเขา อาลี คูชายิบ เริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

africanews

คณะกรรมการประสานงานสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น กล่าวหากลุ่มทหารจันจาวีดในความพยายามที่จะกระชับพื้นที่ เพื่อเข้าควบคุมดินแดน

นอกจากนี้ พวกเขายังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ถอนกำลังออกไป เมื่อเดือน ม.ค. 2563 ให้กลับเข้ามาประจำการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชนเผ่าอาหรับยังไม่แสดงการตอบกลับต่อการเรียกร้องความคิดเห็นแต่อย่างใด

ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นในเมืองเครย์นิค ระหว่างคนเร่ร่อนชาวอาหรับและเกษตรกรชาวมาซาลิต หลังจากเหตุทะเลาะวิวาทเฉพาะกลุ่ม ตามข้อมูลขององค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) หลายแห่ง

คณะกรรมการประสานงานเผยภาพอาคารที่ถูกเผาทำลาย และเนติบัณฑิตยสภาดาร์ฟูร์ กล่าวว่า มีประชาชนราว 20,000 คน พลัดถิ่นจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ความตึงเครียดขยายวงไปยังเมืองใกล้เคียงอย่าง เอล เจเนย์นา กลุ่มช่วยเหลือกล่าว ที่ซึ่งร้านค้าในพื้นที่ถูกสั่งปิดหลังพระอาทิตย์ตก

“อีกหนึ่งความรุนแรงในพื้นที่ชานเมืองที่ปะทุขึ้น ซึ่งมีพลเมืองบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายร้อยคนในเมืองเจเนย์นา เมื่อปีที่แล้ว คือความเป็นไปได้ที่เป็นจริง และเกิดขึ้นได้ในทันที” เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ ซึ่งกล่าวว่าการปิดถนนเกิดขึ้นทั่วเมือง ระบุ

ความรุนแรงในรัฐดาร์ฟูร์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ข้อตกลงเดือน ต.ค. 2563 ระหว่างรัฐบาลถ่ายโอนอำนาจหลังสมัยประธานาธิบดีบาเชียร์ของประเทศ และกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มที่ต่อสู้ในรัฐดาร์ฟูร์

นอกจากนี้ กลุ่มช่วยเหลือยังกล่าวอีกว่า เมื่อปีที่แล้วแค่ปีเดียว มีคนพลัดถิ่นมากถึง 430,000 คน

“การประท้วงนี้ไม่มีผลในแง่ดีจากข้อตกลงในชีวิตของผู้คน หรือความปลอดภัยทั่วรัฐดาร์ฟูร์” เนติบัณฑิตยสภาดาร์ฟูร์ กล่าวในช่วงหนึ่ง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES