คุณภาพการศึกษา

วันที่ 21 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุมอยุธยา-อาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในการตรวจเยี่ยม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังสรุปผลการดำเนินงานยกระดับกระบวนการผลิตครูของคณะครุศาสตร์เพื่อให้บัณฑิตครูมีสมรรถนะพร้อมรองรับปรับตัวสำหรับอนาคต และการยกระดับคุณภาพการศึกษาของคณะต่างๆ ประกอบด้วย คณะครุศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการ และบัณฑิตวิทยาลัย โดยมี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์ และนิสิตนักศึกษาให้การต้อนรับ

จากนั้นช่วงบ่ายวันเดียวกัน ยังได้รับฟังแผนดำเนินงานโครงการพัฒนา soft skills ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ประจำปี 2565 ที่จะเสริมหนุนให้นักศึกษาทุกคนของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มีทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมทั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้นำนักศึกษาได้เสนอความคิดเห็นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นการส่วนตัวเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนด้านงานกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ องคมนตรี ยังได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และเยี่ยมชมท้องฟ้าจำลองพระราชานุสรณ์พระจอมเกล้า ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาปรากฎการณ์ทางธรรมชาติด้านดาราศาสตร์ ของนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเป็นแหล่งฝึกการจัดค่ายทางวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียน ของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู จากนั้นพูดคุยและให้ข้อเสนอแนะกับนักศึกษา ก่อนเดินทางกลับอีกด้วย (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

แก้ไขน้ำเสีย

วันที่ 22 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่คลองเปรมประชากร ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นายประพันธ์ ตรีบุบผา ปลัดจังหวัด นายสิทธิวีร์ วรรณพฤกษ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด นางพิศมัย เลิศอิทธิบาท ประชาสัมพันธ์จังหวัด พร้อมด้วย ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ประชุมมงคลบพิตร ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายวีระชัย นาคมาศ เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาและปรับปรุงคลองเปรมประชากรนี้เป็นโครงการของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดยทาง ศอญ. ได้รับมาดำเนินการ และแจ้งจังหวัดที่คลองเปรมประชากรเส้นนี้ได้ไหลผ่าน ประมาณ 56 กิโลเมตร ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ในส่วนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับผิดชอบระยะทาง 8 กิโลเมตร โดยมอบให้คณะทำงานฯ ที่ได้แต่งตั้งไปกำหนดวิธีแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่คลองเปรมประชากร ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปสู่ชุมชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบ อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการชลประทานจังหวัด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร องค์การจัดการน้ำเสีย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และประชาสัมพันธ์จังหวัด ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้า สถานการณ์คุณภาพน้ำ การบำบัดน้ำเสีย ความก้าวหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามคลองเปรมประชากร จำนวน 5 แห่ง และรายงานปัญหาอุปสรรคในการรื้อถอนสะพานไม้ชั่วคราว ต.บางกระสั้น และ ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน รวมทั้งเสนอแผนเตรียมจัดกิจกรรมจิตอาสารักษ์คลองเปรมประชากร ในวันที่ 29 เมษายน 2565 ณ ตำบลบางกระสั้น เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

พระราชพิธีสงกรานต์

วันที่ 25 เมษายน 2565 เวลา 10.30 น. นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานประกอบพิธีถวายเครื่องราชสักการะเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในพระราชพิธีสงกรานต์ พุทธศักราช 2565 ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีประธานในพิธี เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ และนำผู้เข้าร่วมพิธีกล่าวอาเศียรวาทถวายราชสดุดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นนำ หัวหน้าส่วนราชการถวายเครื่องราชสักการะ ปิดทอง คลุมผ้ารอยพระพุทธบาทและสรงน้ำรอยพระพุทธบาท พร้อมห่มผ้าและสรงน้ำพระพุทธรูปถ้ำวิมานจักรีในอาคารพิพิธภัณฑ์สถานวิหารหลวงวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารและพระพุทธรูปประจำถ้ำประทุนหลังจากเสร็จพิธีถวายเครื่องราชสักการะในพระราชพิธีสงกรานต์แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี มอบสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น เครื่องอุปโภค ให้กับคนไร้ที่พึ่งภายในสถานสงเคราะห์ถ้ำประทุน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ด้วย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

และที่วัดพระพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เวลา 10.30 น. นายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในพระราชพิธีสงกรานต์ โดยประธานในพิธีฯเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ และนำผู้เข้าร่วมพิธีกล่าวอาเศียรวาทถวายราชสดุดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี จุดธูป เทียน ถวายเครื่องราชสักการะ (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)

“ท้าวมหาพรหม”

วันที่ 19 เมษายน 2565 เวลา 19.00 น. ณ บริเวณหน้าตลาดเจ้าพรหมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดงานมหาสงกรานต์ “ท่านท้าวมหาพรหม”ประจำปี 2565 โดยมี นายจรูญศักดิ์ ศรีโภชน์สมบูรณ์ ประธานคณะกรรมการศาลท้าวมหาพรหมพระนครศรีอยุธยา/ประธานหอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายวิทยา เขียวรอด นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน เข้าร่วมงาน

สำหรับการจัดงานมหาสงกรานต์ “ท่านท้าวมหาพรหม” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งนี้เพื่อมุ่งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับจังหวัดฯ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นการฉลองงานประเพณีสงกรานต์ โดยเฉพาะสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้ในระดับหนึ่ง รวมถึง สามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีกิจกรรมประกอบไปด้วยพิธีบวงสรวงองค์ท้าวมหาพรหม ละครถวายองค์ท้าวมหาพรหม ชมลิเกเงินล้าน ศรราม น้ำเพชร การแสดงดนตรี วงศ์จ้าวจ๋อ ลพบุรี และช้อป ชิม อาหารเลิศรสประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกมากมาย

นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การจัดงานมหาสงกรานต์ “ท่านท้าวมหาพรหม” ครั้งนี้เป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ไม่ว่าจะเป็น การแสดงรำไทย ลิเก ซึ่งเป็นนาฏศิลป์พื้นบ้านของภาคกลาง และเป็นการรณรงค์ใส่ชุดไทย ในการเที่ยวชมก็เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อีกทั้งเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในพื้นที่ชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้ปฏิบัติตาม มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดโรคไวรัสโคโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

รณรงค์ลดอุบัติเหตุ

วันที่ 20 เมษายน 2565 เวลา 13.30 น. ณ ประชุมมงคลบพิตร ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายกฤษณ์ แก้วทองหลาง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรม “การณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2565 ณ ถนนโรจนะ หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้

ด้วยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กำหนดจัดกิจกรรม”การรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม” ในวันดังกล่าวเพื่อเป็นการสร้างกระแสการรับรู้ และสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึกและตระหนัก ถึงความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขับรถที่ไม่มีวินัย และไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดสืบเนื่องจากปัญหาอุบัติเหตุจราจรที่ทำให้ต้องสูญเสียประชาชนในแต่ละปีมีจำนวนมาก รัฐบาลเห็นความสำคัญของการแก้บัญหาดังกล่าว โดยกำหนดให้การปฏิรูปประเทศด้านความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยตั้งเป้าหมายให้ละความสูญเสียร้อยละ 50 ภายในปี 2565 อีกด้วย (วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ต้านภัยแล้ง

วันที่ 25 เมษายน 2565 นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมจิตอาสาต้านภัยแล้ง เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระนเรศวรมหาราช ประจำปี 2565 ณ อ่าวยายเกิด หมู่ที่ 12 ตำบลหัวไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี รอง ผอ.กอรมน.จังหวัดสิงห์บุรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสิงห์บุรี หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารสถานศึกษา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี และจิตอาสา 904 จังหวัดสิงห์บุรี สวมใส่เสื้อสีเหลือง ร่วมกิจกรรรมทำความสะอาดเก็บผักตบชวาบริเวณอ่าวยายเกิด เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงภัยแล้งและเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูฝนให้แก่ประชาชนใช้ในหน้าแล้ง ด้วยศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานต้านภัยแล้งปี 65 มีแนวคิดคือดำเนินการสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติมจังหวัดละ 1 แห่ง อาจจะเป็นขุดหนองน้ำใหม่ ลอกหนองน้ำเดิมหรือการเชื่อมหนอง โดยไม่ต้องรอประกาศพื้นที่ประสบภัย

ทั้งนี้ โดยศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดสิงห์บุรีได้พิจารณาคัดเลือกอ่าวยายเกิด หมู่ที่ 12 ตำบลหัวไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นพื้นที่ดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูฝนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตำบลหัวไผ่ ได้มีน้ำสำรองไว้ใช้และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยได้มีข้อสั่งการให้จังหวัดดำเนินการตามพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการฟื้นฟูแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แม่น้ำ คูคลอง หนอง บึง ให้สะอาดสวยงาม ดำเนินการพัฒนาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริในการฟื้นฟูและพัฒนาลำน้ำคูคลองในพื้นที่ ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การเกษตร ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ และเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)

เยี่ยมนักเรียนทุน

นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เหล่ากาชาดจังหวัดสระบุรี จิตอาสาพระราชทานจังหวัดสระบุรีและคณะ ได้ออกเยี่ยมเยียนประชาชนตาม โครงการ ”ออกหน่วย บำบัดทุกข์ บำรุงสุขสร้างรอยยิ้มให้ประชาชน” ได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจด้วย

คณะรองผู้ว่าฯเข้าตรวจเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุและ ผู้ยากไร้ ครอบครัว นายสมโภชน์ สุขยานุดิษฐ์ อายุ 70 ปี บ้านเลขที่ 25 หมู่ 4 ตำบลหนองสีดา อำเภอหนองแซง พร้อมซ่อมแซมที่อยู่อาศัยมอบชุดเครื่องนอน เครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น พัดลม หม้อหุงข้าว ตรวจเยี่ยมบ้านผู้พิการติดเตียงและยากไร้ นายสมเดช ทิพสุวรรณ์ อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 18/1 หมู่ 7 ตำบลหนองหัวโพ อำเภอหนองแซง นายสมเดช ปัจจุบันไม่มีอาชีพเนื่องจากพิการเส้นเลือดในสมองแตกอาศัยอยู่กับลูกสาว กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสระบุรี เข้าช่วยเหลือปูกระเบื้อง ซ่อมหลังคาและห้องน้ำ

จากนั้นไป ตรวจเยี่ยมบ้านนักเรียนทุน มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เด็กหญิงจารุวรรณ พึ่งป่าอายุ 5 ปี บ้านเลขที่ 73 หมู่ 6 ต.หนองหัวโพ อ.หนองแซง กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนวัดหนองหัวโพ และตรวจเยี่ยมบ้านนักเรียนทุนมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เด็กหญิงสุจินดา สีทับทิม อายุ 14 ปี บ้านเลขที่ 23/1 หมู่ 6 ตำบลหนองกบ อำเภอหนองแซง ส่วนครอบครัวเด็กหญิงสุจินดา มีความต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และต้องการคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ซึ่งที่ทำการปกครองอำเภอหนองแซง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา ฯลฯ สนับสนุนอิฐบล็อห สุขภัณฑ์ อบต.หนองกบ สนับสนุนในการสร้างห้องน้ำ (สมนึก สุขีรัตน์/สระบุรี)

บูรณะวัดโปรดสัตว์

วันที่ 22 เมษายน 2565 ณ บริเวณโบราณสถานวัดโปรดสัตว์ ตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นางสรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงงานอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดโปรดสัตว์ โดยมี นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด ผู้แทนราชสกุลสนิทวงศ์ ข้าราชการ ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลและขออโหสิกรรมต่อดวงวิญญาณบรรพบุรุษก่อนทำการบูรณปฏิสังขรณ์

วัดโปรดสัตว์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2235 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2245 ตามประวัติเล่าว่า มีผู้เก่งกล้าวิชาอาคมเสกกระดูกผีเป็นช้างลอยน้ำมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา มาติดอยู่หน้าวัด ในขณะที่ช้างลอยมาผ่านที่ใด ชาวบ้านแห่งนั้นก็จะล้มเจ็บเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่ล้มป่วยทราบว่าหลวงพ่อมีน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จึงได้เดินทางมาขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อเดินไปที่หน้าโบสถ์ชี้ไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าโบสถ์ และพูดว่าน้ำมนต์อยู่ในน้ำนั้น ชาวบ้านจึงตักน้ำตรงหน้าวัด ไปรักษาญาติที่เจ็บป่วยหายเป็นปลิดทิ้ง นับแต่นั้นจึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดโปรดสัตว์” เมื่อสมัยอยุธยาได้เคยเป็นสถานที่พักรับรองราชทูตจากลังกา แม้การจัดส่งพระสงฆ์และทูตานุทูตไปลังกาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็ได้อาศัยที่วัดนี้เป็นที่จัดส่งและต้อนรับกลับ (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

แผนยุทธศาสตร์

สำนักงานเทศบาลตำบลวิหารแดง ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี และองค์กรท้องถิ่นทั้ง 7 แห่งของ อ.วิหารแดง จัดประชุมร่วมกันที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ สำนักงานเทศบาลตำบลวิหารแดง โดยมี นายกอรนุช คูวิจิตรสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลวิหารแดง เป็นประธาน โดยมีตัวแทนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์แต่ละท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมประสานแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดกันให้สอดรับกับงบประมาณแต่ละท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม และได้รับการสนับสนุนส่วนที่ขาดหรือไม่เพียงพอจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี ด้วย (สมชาติ มานะยิ่งเมต / สระบุรี)

มอบทุนการศึกษา

วันที่ 22 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ บริเวณโดมอเนกประสงค์ ข้างหอประชุมสงฆ์ วัดพนัญเชิงวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน/นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นางสาวนฤมล พงษ์สุภาพ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด นางสาวเต็มจิต จันทคา ศึกษาธิการจังหวัด นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ นักเรียน นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการสำรวจและรับแจ้งข้อมูลเด็กในครอบครัวยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดแคลนทุนการศึกษา โดยได้มีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน สอบข้อเท็จจริงเด็กและครอบครัว พบว่าประสบปัญหาความเดือดร้อนจริง จึงได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เด็กในครอบครัวยังคงประสบปัญหาความเดือดร้อน ขาดแคลนอยู่ซึ่งเป็นปัจจัยดังกล่าว เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เด็กที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน หมดกำลังใจและอาจขาดโอกาสทางการศึกษาได้ คณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดพนัญเชิงวรวิหารได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับเด็ก จึงได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียน นักศึกษา ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 120 รายโดยแบ่งเป็น ระดับชั้น ระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 1 ราย เป็นเงินจำนวน 1,000 บาท ระดับชั้นอนุบาล จำนวน 8 ราย เป็นเงินจำนวน 8,000 บาท ระดับชั้นประถมศึกษา จำนวน 59 ราย เป็นเงินจำนวน 88,500 บาท ระดับชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 50 ราย เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ระดับ ปวช. จำนวน 1 ราย เป็นเงินจำนวน 2,000 บาทและ ระดับปริญญาตรี จำนวน 1 ราย เป็นเงินจำนวน 3,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 202,500 บาท เพื่อเป็นการสร้างโอกาส ทางการศึกษา เป็นขวัญกำลังใจและเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน ให้แก่เด็กนักเรียน นักศึกษา ผู้ได้รับทุน ซึ่งหวังให้เด็กนักเรียนได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนประพฤติตนเป็นเด็กดี เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

สังคมผู้สูงวัย

นายสุภกิณห์ แวงชิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างความตระหนักเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย และโครงการเสริมสร้างกลไกการพัฒนาผู้สูงอายุในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานทุกภาคส่วนตระหนักถึงคุณค่าและเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ รวมทั้งมีการมอบโล่เกียรติคุณแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้สูงอายุที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมจังหวัดลพบุรี และมอบเกียรติบัตรแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 3 ราย โดยมี นางดุสิตา เชาวน์เลิศ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมโอทู อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

เปิดห้องประชุม

วันที่ 20 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุมปาสาทิโก โรงเรียนตะโกดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายประพันธ์ ตรีบุบผา ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นประธานในพิธีเปิดห้องประชุมปาสาทิโก เงินอุปถัมภ์จากวัดตะโก น้อมถวายเป็นอาจาริยบูชาเนื่องในโอกาส 100 ปี ชาตกาล พระมงคลสิทธาจารย์(หลวงพ่อรวย ปาสาทิโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดตะโก และโรงอาหารขนาดเล็ก 260 ที่นั่ง ด้วยเงินงบประมาณ ประจำปี 2564 โดยมี พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหาร พระครูสิทธิสรคุณ เจ้าอาวาสวัดตะโก พร้อมด้วย นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด พระนครศรีอยุธยา นายสิรศักดิ์ ทัศยาพันธุ์ นายอำเภอภาชี นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวจิราภรณ์ เทพกรรณ์ ผู้อานวยการโรงเรียนตะโกดอนหญ้านาง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

ด้าน ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาคนให้เป็นคนดี คนเก่ง และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งผู้ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้อุปถัมภ์โรงเรียนที่จะทำให้การศึกษาเจริญก้าวหน้า ก้าวไกล ซึ่งงานในวันนี้ได้แสดงถึงความกตัญญูที่โรงเรียน ได้น้อมถวายเป็นอาจาริยบูชาเนื่องในโอกาส 100 ปี ชาตกาล พระมงคลสิทธาจารย์ (หลวงพ่อรวย ปาสาทิโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดตะโก โดยกระทรวงศึกษา กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนโรงเรียนขยายโอกาสไปสู่อนาคต เน้นในด้านการเรียนรู้ทักษะวิชาชีพ ในความต้องการและความพร้อมของนักเรียน พร้อมกับมีครูและผู้ปกครองเป็นพี่เลี้ยง ช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะวิชาชีพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

การจัดการขยะ

นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยนางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลพบุรี พร้อมนายบรรหาร เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ต้อนรับ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมคณะผู้เข้ารับการอบรมตามโครงการอบรม หลักสูตร “ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง” รุ่นที่ 26 วิทยาลัยการยุติธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เข้าศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการขยะ บ้านเกาะ หมู่ 5 ต.โก่งธนู อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยศูนย์เรียนรู้นี้ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” มาใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ 5 ฐาน การเรียนรู้ ประกอบด้วย ฐานที่ 1 ทำเป็นบ้าน สานเป็นกลุ่ม แปลงผักสวนครัวรักษ์โลก “โก่งธนู โมเดล” ฐานที่ 2 ฐาน ธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) ฐานที่ 3 ฐาน มหัศจรรย์ถังขยะ “โก่งธนู โมเดล” (ถังขยะเปียกลดโลกร้อน) และฐานที่ 4 ฐาน ศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการขยะ บ้านเกาะ หมู่ 5 และนวัตกรรมพวงหรีดจักสาน ลดปริมาณขยะ (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)