เมื่อวันที่ 27 ก.ค. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 โดยกล่าวอ้างว่าพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายกิตติศักดิ์ต่อศาลอาญาเนื่องจากเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในที่ชุมนุมของประชาชนระหว่างวันที่ 23 พ.ย.2556 – 1 พ.ค.2557 เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและไม่ไว้วางใจรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 63/2556, 11/2557 และ12/2557 ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลผูกพันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสำนักงานอัยการสูงสุดไม่อาจฟ้องนายกิตติศักดิ์เป็นจำเลยต่อศาลอาญาได้

โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่าคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้วินิจฉัยถึงการฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และยังวินิจฉัยไว้ชัดเจนว่าหากการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น เป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นจะต้องดำเนินการมให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกอบกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้วินิจฉัยว่าการกระทำของกลุ่มผุ้ชุมนุมไม่เป็นความผิดทางอาญาที่จะทำให้กลับความเห็นหรือคำสั่งเดิม ที่จะสามารถสั่งไม่ฟ้องได้ ดังนั้นการมีคำสั่งนายกิตติศักดิ์เป็นการกระทำตามพยานหลักฐานขององค์ประกอบความผิด ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 211

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลอื่น ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47(4) มาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้นนายกิตติศักดิ์ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้ ศาลรัฐธรรมนูญจงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย.