สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ว่า หน่วยเฉพาะกิจจีนที่ได้รับทุนจากรัฐ กล่าวว่า ควรเพิ่มมาตรฐานคุณภาพอากาศต่างๆ เนื่องจากปัญหาหมอกควันที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการปรับปรุงแก้ไขเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม

หลังจากการปล่อยแคมเปญในปี 2556 เพื่อรับมือปัญหาหมอกควัน มลพิษทางอากาศในจีนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปริมาณเฉลี่ยของอนุภาคขนาดเล็กมากที่เป็นอันตรายในอากาศ หรือที่รู้จักกันว่า พีเอ็ม 2.5 ลดลงประมาณครึ่งหนึ่งจากระดับในปี 2558 เป็น 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อปีที่แล้ว ตามข้อมูลของทางการ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่จีนถึงเป้าหมายเบื้องต้น ที่ 35 ไมโครกรัม มันยังห่างไกลจากปริมาณจำกัดที่ 5 ไมโครกรัม ตามคำแนะนำของดับเบิลยูเอชโอ พื้นที่บางส่วนในเขตอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศยังคงมีระดับหมอกควันเกือบ 200 ไมโครกรัม โดยเฉพาะในฤดูหนาว

รัฐบาลปักกิ่งจำเป็นต้องแก้ไขมาตรฐานมลพิษทางอากาศแห่งชาติใหม่ และปรับปรุงการคุ้มครองตามกฎหมายต่างๆ สำหรับสุขภาพของมนุษย์ หน่วยเฉพาะกิจ ซึ่งได้รับมอบหมายจากแผนงานวิจัยมลภาวะแห่งชาติของจีน รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

“ความเสี่ยงทางสุขภาพที่รุนแรงของมลพิษ พีเอ็ม 2.5 ในสภาพแวดล้อม โดยทั่วไปหมายถึงการสัมผัสกับ พีเอ็ม 2.5 ในระยะสั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกาย, กระตุ้นจุดเริ่มต้นของอาการและโรคต่างๆ (ส่วนใหญ่คือ โรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจ) และนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและผลกระทบต่อสุขภาพอีกมากมาย” ตามที่ระบุในรายงาน

การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ปริมาณ พีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัม มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพราะโรคระบบทางเดินหายใจ เพิ่มขึ้น 0.34%

หน่วยเฉพาะกิจเร่งเร้าให้รัฐบาลทำการส่งเสริมพลังงานสะอาดให้มากขึ้น, ยกระดับอุตสาหกรรม และควบคุมมลพิษในระบบขนส่ง และกล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของจีน คือส่วนสำคัญในความพยายามที่จะบรรลุคำแนะนำของดับเบิลยูเอชโอ

นอกจากนี้ หน่วยงานยังเรียกร้องถึงการปรับปรุงในเรื่องข้อมูล และการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศที่เป็นระบบมากกว่านี้ ซึ่งรวมไปถึงผลกระทบของ “ส่วนประกอบหลักที่เป็นพิษ” ต่อตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของมนุษย์

มลพิษทางอากาศในจีน ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 1.4 ล้านคน ในปี 2562 จากข้อมูลของ การศึกษาภาระโรคทั่วโลก (จีบีดี) รายงานที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES