สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ว่า ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด กล่าวถึงมาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.นี้ จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดภายในประเทศ ท่ามกลางภาวะราคาอาหารเฟ้อซึ่งพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ต่างเป็นประเทศผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่อันดับต้นของโลก


ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่อุปสงค์จากนานาประเทศ โดยเฉพาะจีนและอินเดียซึ่งสูงกว่าปกติ ตั้งแต่ต้นปีนี้ ทำให้อินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของโลก ไม่สามารถจัดสรรการผลิตและควบคุมการส่งออกได้ทันเวลา นอกจากนี้ มาตรการควบคุมการอนุมัติใบอนุญาตส่งออกน้ำมันปาล์ม เมื่อเดือน ม.ค. เพิ่งมีการยกเลิก เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ นอกเหนือจากการซื้อขายระดับรัฐต่อรัฐแล้ว บริษัทผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็น เนสท์เล่ ยูนิลีเวอร์ และ พรอกเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ( พีแอนด์จี ) ล้วนเป็นผู้สั่งซื้อน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของอินโดนีเซียเช่นกัน


ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าของน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดชิคาโก ซึ่งเป็นน้ำมันจากพืชซึ่งมีการใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากน้ำมันปาล์ม พุ่งขึ้น 4.5% สร้างสถิติใหม่ 83.21 เซนต์ ต่อ 1 ปอนด์ ( ราว 13.27 บาท )


ด้านนางศรี มุลยานี อินทราวตี รมว.คลังของอินโดนีเซีย กล่าวถึงมาตรการแบนการส่งออกน้ำมันปาล์มว่า “มีความจำเป็น” เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาอาหารในประเทศก่อน และยอมรับว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดโลก โดยอินโดนีเซียจะประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และจะหาทางดำเนินการเพื่อให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด.

เครดิตภาพ : REUTERS