ในเกาหลีใต้ เมื่อเด็กทารกคนหนึ่งเกิด จะถือว่ามีอายุ 1 ขวบ และเมื่อถึงวันปีใหม่ ทารกจะได้อายุเพิ่มอีก 1 ปี นั่นหมายความว่า เด็กทารกที่เกิดในเดือน ธ.ค. จะมีอายุ 2 ขวบ ภายในเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม วิธีนับ “อายุเกาหลี” เช่นนี้ อาจถูกเปลี่ยนในอีกไม่นาน เมื่อนายยุน ซอก-ยอล ว่าที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กำลังผลักดันล้มเลิกวิธีการนับอายุที่มีมาหลายศตวรรษแบบนี้

ลี ยอง-โฮ หัวหน้าคณะกรรมการถ่ายโอนอำนาจของว่าที่ประธานาธิบดี กล่าวว่า คณะบริหารที่จะเข้ารับตำแหน่ง กำลังหาวิธีทำให้การนับอายุเป็นมาตรฐาน เพื่อนำเกาหลีใต้สู่แนวปฏิบัติเดียวกับทั่วทั้งโลก เนื่องจากการคำนวณอายุที่แตกต่าง ส่งผลให้เกิด “ความสับสนบ่อยครั้ง” และ “ค่าใช้จ่ายทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น”

วิธีนับอายุของคนคนหนึ่งในเกาหลี มีทั้งหมด 3 วิธี ตามปกติโดยทางการแล้ว ประเทศจะใช้ระบบการนับนานาชาติ โดยการใช้วันเกิดของตัวบุคคล ในคำอธิบายตามกฎหมาย และกระบวนการบริหารส่วนใหญ่ ตั้งแต่ปี 2505

ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ยังมีอีกหนึ่งวิธีทางการที่ใช้นับอายุ ซึ่งเด็กทารกจะเกิดมาด้วยอายุ 0 ขวบ และได้อายุเพิ่มในทุกวันที่ 1 ม.ค. ตามวิธีการนับนี้ เด็กทารกที่เกิดในเดือน ธ.ค. 2563 จะมีอายุ 2 ขวบ เมื่อถึงเดือน ม.ค. 2565 แม้ว่าเด็กจะยังมีอายุไม่ครบ 2 ขวบ จริง ๆ ในเดือน ธ.ค. ของปีนั้นก็ตาม

วิธีนับแบบนี้ ส่วนมากถูกใช้เพื่อกำหนดอายุตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินการหลายอย่างทางกฎหมาย รวมถึงการเกณฑ์ทหาร และการกำหนดอายุของเยาวชน ในการให้ได้รับความคุ้มครองจากการทารุณกรรม

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีวิธีนับ “อายุเกาหลี” ซึ่งถูกใช้อย่างเป็นปกติทั่วไปโดยทุกคนในสังคม ที่ซึ่งทุกคนจะมีอายุ 1 ขวบโดยอัตโนมัติเมื่อเกิด และจะมีอายุเพิ่มอีก 1 ปี ในวันขึ้นปีใหม่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงวันเกิดของพวกเขา

สำหรับบางคน มันอาจเป็นแค่ตัวเลข แต่อายุคือสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญอย่างมากในเกาหลีใต้ “ในสังคมเกาหลีใต้ การรู้ว่าใครบางคนมีอายุมากกว่าพวกเขาหรือไม่นั้น สำคัญกว่าการที่รู้ชื่อของใครบางคนในบริบททางสังคม มันเป็นเรื่องที่สำคัญในการกล่าวถึงตัวบุคคล รวมถึงการให้เกียรติ หรือยศศักดิ์อีกด้วย” ชิน จี-ยอง ศาสตราจารย์ภาควิชาภาษาและวรรณกรรมเกาหลี แห่งมหาวิทยาลัยเกาหลี ให้ความเห็น

ปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นเพียงประเทศเดียวบนโลก ที่ยังคงนับอายุด้วยวิธีแบบนี้ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามคิดหาวิธีนับอายุที่เป็นหน่วยเดียวกัน โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 และ 2564 สมาชิกสภานิติบัญญัติ 2 คน ยื่นเสนอร่างกฎหมายในแบบเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES