เคลลี แอนเดอร์สัน นักฝึกสุนัขวัย 32 ปี เคยมีสัตว์เลี้ยงแสนรักอยู่ตัวหนึ่งเป็นแมวเพศเมียชื่อว่า ‘ฉาย’ 

ในปี 2560 แมวของเธอตายอย่างกะทันหันเมื่ออายุได้ 5 ปี สาเหตุเนื่องจากมันกลืนกระดาษห่อของเข้าไปแล้วตกค้างอยู่ในลำไส้ 

เกือบทันทีที่แมวของเธอตาย แอนเดอร์สันก็จำได้ว่าเคยคุยกับเพื่อนร่วมห้องเช่าเกี่ยวกับบริษัทแห่งหนึ่งในรัฐเทกซัสชื่อว่า ‘ViaGen’ ที่รับ ‘โคลนนิ่ง’ สัตวเลี้ยง เธอจึงรีบโทรศัพท์ติดต่อไปในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่เจ้าฉายจากเธอไป

แอนเดอร์สัน จ่ายค่าบริการไป 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 850,000 บาท) และต้องรออีก 5 ปี เธอจึงได้แมวน้อยอายุ 6 เดือน ที่หน้าตาเหมือนเจ้า ‘ฉาย’ แทบจะทุกประการมาเลี้ยงดู 

เธอตั้งชื่อให้แมวน้อยว่า ‘เบลล์’ มันมีตาสีฟ้าเข้มและขนสีขาวฟูนุ่มเหมือนฉาย และมีนิสัยบางอย่างคล้ายกัน เช่น ชอบขึ้นไปนอนเหยียดยาวบนหลังของแอนเดอร์สัน 

อย่างไรก็ตาม แอนเดอร์สัน กล่าวว่า แมวทั้งสองตัวไม่ใช่จะเหมือนกันไปเสียทุกอย่าง 

แม้ว่าจะเป็นการโคลนนิ่งจากพันธุกรรมตั้งต้นชุดเดียวกัน แต่แมวทั้งสองไม่ใช่ตัวเดียวกัน และไม่มีความทรงจำหรือประสบการณ์ที่ถ่ายทอดสู่กันได้ อธิบายได้ง่าย ๆ ว่าเป็นการตั้งค่าโทรศัพท์มือถือให้กลับไปสู่การตั้งค่าจากโรงงาน นั่นคืออุปกรณ์และเทคโนโลยีในเครื่องยังคงเป็นเหมือนเดิม แต่ข้อมูลต่าง ๆ หรือเแอพพลิเคชั่นที่เราเคยใส่ไว้ในเวลาต่อมา ถูกลบทิ้งทั้งหมด

บริษัท ViaGen ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 รับโคลนนิ่งสัตว์หลายชนิด เช่น ม้า วัว หมู ในตอนแรกเริ่ม และเพิ่งมารับโคลนสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมวในปี 2557 

ปัจจุบัน บริษัท ViaGen คิดราคาการโคลนนิงสุนัขที่ตัวละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 ล้านบาท) และแมวตัวละ 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.18 ล้านบาท) นอกจากนี้ยังมีบริการรับเก็บเซลล์ของสัตว์เลี้ยงที่ตายไปแล้ว และเจ้าของยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำโคลนนิ่งดีหรือไม่ ในราคา 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 54,400 บาท) โดยไม่มีการจำกัดเวลา ทางบริษัทเคยทำการโคลนนิ่งสุนัข ซึ่งเจ้าของเก็บดีเอ็นเอของมันไว้เป็นเวลานานถึง 17 ปี

บริษัทไม่ได้เปิดเผยจำนวนที่แน่ชัดของสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการโคลนนิ่งออกมา โดยระบุเพียงว่าเป็น ‘หลักร้อย’ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

25 ปีหลังจากการโคลนนิ่งสัตว์ตัวแรกในโลก ซึ่งก็คือเจ้าแกะ ‘ดอลลี’ และถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการยินยอมให้ใช้เทคโนโลยีโคลนนิ่งในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว แต่กระบวนการหรือขั้นตอนการใช้เทคโนโลยีก็ยังคงเป็นปัญหาในเชิงจริยธรรม

กระบวนการโคลนนิ่งเริ่มจากการนำเซลล์จำนวนเล็กน้อยจากเนื้อเยื่อของสัตว์เลี้ยงมาใช้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเยื่อจากบริเวณใบหูหรือส่วนท้อง หลังจากนั้น จะมีการนำเซลล์ไปแช่เอนไซม์บางตัวเพื่อสกัดเอาดีเอ็นเอออกมา 

ขั้นตอนต่อไปคือการนำนิวเคลียสของไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสมของสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในสายพันธุ์เดียวกันออกไป แล้วใส่นิวเคลียสที่ได้จากเซลล์ของสัตว์เลี้ยงที่ต้องการโคลนนิ่งเข้าไปแทน จากนั้นก็จะนำไข่ใบใหม่ที่มีดีเอ็นเอของสัตว์เลี้ยงที่ต้องการ ไปแช่ในส่วนผสมที่เต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต้องมีในมดลูกของสัตว์ จนกระทั่งไข่กลายเป็นตัวอ่อนซึ่งพร้อมที่จะนำไปฝังในตัวสัตว์ที่เป็นเหมือน ‘แม่อุ้มบุญ’

ถ้าหากไม่มีอะไรผิดพลาด ‘แม่อุ้มบุญ’ ก็จะเริ่มตั้งท้องสัตว์เลี้ยงที่ลูกค้าต้องการโคลนนิ่ง

ปัญหาก็คือการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงไม่สามารถรับประกันผลสำเร็จได้ 100% สัตว์ที่ตั้งท้องอาจเกิดอาการแท้ง หรือตัวอ่อนที่เพาะขึ้นมาอาจใช้การไม่ได้ ซึ่งหมายถึงการใช้สัตว์ที่เป็น ‘แม่อุ้มบุญ’ และสัตว์ที่ให้ไข่เพื่อเป็นที่อยู่ของตัวอ่อนเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากการโคลนนิ่งไม่ใช่กระบวนการธรรมชาติ จึงอาจเกิดความผิดปกติกับตัวอ่อนได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่อาการแท้งหรือตายตั้งแต่แรกเกิด

โดยสรุปก็คือ การจะได้สัตว์โคลนนิ่งขึ้นมาสักตัวนั้น อาจจะต้องเสียสละชีวิตและสุขภาพของสัตว์ตัวอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อผลสำเร็จ

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังที่ต้องรู้ไว้ ซึ่งก็คือสัตว์ที่โคลนนิ่งออกมานั้นจะไม่ใช่สัตว์ตัวเดียวกับที่ลูกค้าเคยเลี้ยง มันจะไม่มีทั้งนิสัยและความทรงจำของสัตว์เลี้ยงแสนรักตัวเดิม จึงเกิดคำถามว่า หากไม่ได้ ‘ลูกรัก’ ตัวเดิมกลับมาแล้ว จะเป็นการดีกว่าไหม ถ้าหากเราจะเลี้ยงสัตว์ตัวใหม่ไปเลย หรือไปรับสัตว์ที่จะต้องโดน ‘กำจัด’ จากศูนย์กักกันสัตว์เร่ร่อนมาเลี้ยงแทน.

แหล่งข้อมูล : Yahoo.com

เครดิตภาพ : Getty Images