เกมชิงคะแนนเสียงสนามเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” หลังสงกรานต์ 2565 ผ่านพ้น น่าจะดุเดือดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะเข้าใกล้ช่วงโค้งสุดท้ายในการออกเดินสายหาเสียง ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนก็ย่อมจะพยายาม “ชูนโยบายสำคัญ” ออกมากันอย่างเซ็งแซ่มากขึ้น เพื่อหวังเป็น “หมัดเด็ด” เพื่อหวัง “จูงใจคนกรุงเทพฯ” ทั้งนี้ ในบรรดาประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่มีในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่คนเมืองกรุง…โดยเฉพาะที่ฐานะไม่ได้ร่ำรวย ต้องเผชิญกันนั้น กับประเด็น “ปัญหาเงินกู้กับคนกรุงเทพฯ” นี่ก็มีสถานการณ์ที่ “น่าคิด” เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อ “เศรษฐกิจไทยตกต่ำ” และ “สวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น” …

ส่งผลทำให้ “คนกรุงเทพฯ” ต้อง “ดิ้นรนเสาะหา”

ต้องมีการ “พึ่งพาเงินกู้” ทั้ง “ในระบบ-นอกระบบ”

เรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ…

ทั้งนี้ กับกรณี “ปัญหาเงินกู้” ของ “คนกรุงเทพฯ” นั้น ประเด็นนี้ได้มีการสะท้อนเอาไว้ใน “ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ร่วมกันสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 1,204 กลุ่มตัวอย่าง ในช่วงระหว่างวันที่ 5-10 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจากผลการสำรวจนั้น ก็ได้สะท้อน “ปรากฏการณ์” เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้เอาไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับ “ปัจจัย-แรงจูงใจ” และ “ความจำเป็น” ที่ทำให้ “คนกรุงต้องกู้เงิน” ซึ่ง “ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.” ก็น่าจะได้ลองพินิจ…

เกี่ยวกับการสำรวจเรื่องนี้ ทาง ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้เผยไว้ถึงวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการสำรวจครั้งนี้ว่า… เนื่องจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของ
โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก อีกทั้งในช่วงต้นปี 2565 นี้ยังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ก็ส่งผลกระทบมาถึงคนไทยด้วย ซึ่งแม้รัฐบาลจะมีโครงการต่าง ๆ ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชน…

คนกรุงก็ยังจำเป็นต้องกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ…

“เพื่อนำมาใช้จ่าย” และ “เพื่อประคองชีวิตในเมือง”

อนึ่ง จากผลสำรวจดังกล่าวนี้ พบว่า… “ปัจจัย” ที่ส่งผลทำให้ “คนกรุงเทพฯ กู้เพิ่มขึ้น” นั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ปัจจุบันการกู้เงินทำได้สะดวกกว่าในอดีตโดยปัจจุบันนี้ สามารถกู้ผ่านระบบออนไลน์ได้รวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งช่องทางออนไลน์นั้นก็มีหลากหลายกว่าในอดีตเช่น ผ่าน SMS ผ่าน Line ผ่าน Facebook ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การกู้เงินสามารถทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น …นี่เป็น “พัฒนาการ” ที่เกิดขึ้น ที่ผลสำรวจนี้ได้สะท้อนไว้ถึง “ปัจจัยที่ทำให้คนกรุงเทพฯ กู้มากขึ้น”

ในขณะที่ “รูปแบบของแหล่งกู้ยืม” นั้น อันดับหนึ่ง…จากบริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง อันดับสอง… จากธนาคารพาณิชย์ อันดับสาม… จากคนปล่อยกู้ อันดับสี่… จากบริษัทสินเชื่อเงินด่วน และอันดับห้า… จากแอพพลิเคชั่นเงินกู้

สำหรับ “จุดประสงค์การกู้” นั้น ผลสำรวจพบข้อมูลว่า… กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายด้านต่าง ๆ อาทิ… อันดับหนึ่ง ใช้ซื้อรถยนต์-รถจักรยานยนต์ อันดับสอง ใช้ซื้อบ้าน-ที่พักอาศัย อันดับสาม ใช้ในชีวิตประจำวัน อันดับสี่ ใช้เพื่อการศึกษาใช้หมุนเวียนในธุรกิจ อันดับห้า ใช้ลงทุนทำธุรกิจ …เหล่านี้เป็น “วัตถุประสงค์ในการกู้เงิน” ของกลุ่มตัวอย่าง “คนกรุงเทพฯ” ที่ผลสำรวจนี้พบ …ซึ่งวัตถุประสงค์อันดับต้น ๆ ก็ฉายภาพ “สิ่งที่ไม่มี” …

ฉายภาพสิ่งที่ขาด…ที่ทำให้คนเมืองกรุงต้องกู้ยืม

ที่ “กู้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน” นี่ก็ “ยังคงจำเป็น”

ทั้งนี้ ทาง ผศ.ดร.สิงห์ ยังสะท้อนถึงข้อมูลที่สำรวจพบไว้อีกว่า… การ “กู้เงินผ่านออนไลน์” นั้นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า ได้รับข้อมูลของผู้ให้กู้เงินผ่านแอพพลิเคชั่น ผ่านช่องทาง SMS มากที่สุด รองลงมาคือ ได้รับข้อมูลผ่านระบบ Line และสุดท้ายได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นเงินกู้ผ่านทาง Facebook นอกจากนั้นยังพบว่า “ข้อความชวนเชื่อ” ที่ผู้ให้กู้นิยมใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นข้อความ เช่น “กู้ง่าย-ได้เร็ว-ดอกเบี้ยต่ำ-ใช้เอกสารน้อย-ไม่ต้องมีหลักประกัน” เป็นต้น โดย “การกู้เงินของคนกรุงเทพฯ” นั้น มีทั้งกู้ผ่านสถาบันการเงินถูกกฎหมาย และ กู้จากแหล่งที่ผิดกฎหมาย!!

ที่สำคัญ…กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต่างก็ทราบดีว่า…การกู้เงินผ่านแอพพลิเคชั่นที่ผิดกฎหมายนั้น ต้องมีการให้ข้อมูลส่วนตัว รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อ รวมถึงทราบดีว่าแอพพลิเคชั่นเงินกู้ที่ผิดกฎหมาย มีการคิดค่าธรรมเนียมสูงกว่าปกติ แต่ถึงกระนั้นก็เลือกที่จะ กู้ยืมเงินจากแอพพลิเคชั่นที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีทางเลือก ต้องการเงินเพื่อนำไปใช้จ่าย …ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ ยิ่งทำให้ปัญหาการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น!!

“ถ้าดูจากตัวเลขการผิดนัดชำระการกู้ยืมเงินที่มีอัตราเพิ่มขึ้น หรือดูจากสถิติร้องเรียนปัญหาการทวงหนี้ที่มีมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ในตอนนี้แล้วนั้น จะยิ่งสะท้อนชัดเจนว่า… ปัญหาทางเศรษฐกิจกำลังเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้น ๆ ของคนกรุงเทพฯ เวลานี้” …เป็น “มุมสะท้อน” จากประธานฯ บ้านสมเด็จโพลล์ ถึง “ปัญหาใหญ่” อีกข้อ…

“คนกรุงเทพฯ” ก็กำลัง “เผชิญปัญหาทางการเงิน”

และ “คนเมืองกรุงก็คงจะคาดหวังกันไม่น้อย” …

ว่า…“ผู้ว่าฯ กทม.” จะ “มีกึ๋นช่วยแก้ปัญหา??”.