เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 11 พร้อมด้วยนายโภคิน พลกุล ผู้อำนวยการนโยบายพัฒนากรุงเทพมหานคร แถลงเน้นย้ำนโยบาย ในการปลดล็อกกฎหมายและใบอนุญาตที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นการทำมาหากินของประชาชน

น.ต.ศิธา กล่าวว่าที่ผ่านมา กทม.ประสบปัญหาเมืองแห่งวิกฤติในหลายด้าน ทั้งการเมืองเศรษฐกิจ โรคระบาดโควิด-19 จึงทำให้พี่น้องประชาชนในทุกระดับ ประสบปัญหาไม่สามารถทำมาค้าขายได้ โดยเฉพาะกับผู้ค้ารายย่อย ผู้ประกอบการรายเล็ก ตนจึงมีนโยบายที่จะปลดปล่อยประชาชน กฎหมายที่กดทับการทำมาหากิน ขณะเดียวกันจะสนับสนุนให้ประชาชนมีพลังในการต่อสู้ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ต้องเข้าไปสนับสนุน ให้คนสามารถทำมาค้าขายได้ แต่ปัจจุบันกฎหมายไทย ได้ไปกดทับคนทำมาหากิน และมองว่าผู้ค้าผู้ขายคือผู้ร้ายและจ้องที่จะจับผิดอยู่ตลอดเวลา

“กทม. ต้องสนับสนุนให้ทุกคนสามารถทำมาหากินได้ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องใช้อย่างสมดุล และปล่อยให้ Demand & Supply เป็นตัวกำหนดการขับเคลื่อนการค้าขาย การทำมาหากินของประชาชน ที่สำคัญจะต้องสร้างให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงแหล่งทุน ด้วยกองทุนเครดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็ก หรือกองทุนคนตัวเล็ก ให้ตั้งตัวได้ เป็นการล้างหนี้นอกระบบแสนโหด โดยสามารถกู้ได้ตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อเดือน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน”

ขณะมี่ นายโภคิน กล่าวว่าปัจจุบันมีกฎหมายใบอนุญาตที่ขัดขวางการทำมาหากินกว่า 1,500 ฉบับ ดังนั้นพรรค ทสท. จะทำการปลดปล่อยประชาชน ให้สามารถทำมาหากินได้ด้วยการปลดล็อคและพักใบอนุญาต แขวนการบังคับใช้ไว้ชั่วคราว 3-5 ปี โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นอำนาจของกทม.จะทำทันทีใช้พื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่นำร่อง สร้าง “Bangkok legal Sandbox” เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้กลับมาทำมาหากินได้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องไปกังวลว่าจะต้องขอใบอนุญาตได้อย่างไร ขอใบอนุญาตได้ครบหรือไม่ จนเป็นช่องทางให้เกิดการรีดไถ เรียกรับผลประโยชน์ได้เช่นในกลุ่มของผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก กลุ่มคราฟต์เบียร์ และในส่วนที่อยู่นอกเหนืออำนาจของ กทม.พรรคไทยสร้างไทย จะประสานงานในสภาและระดับรัฐบาลต่อไป

โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้กว่า 1,500 ฉบับ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที จากนั้นจะเป็นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้คนกรุงเทพฯ โดยใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ค้าขายทั้ง 50 เขต เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ผ่อนคลายหลังเวลาเลิกงาน หรือยามค่ำคืน ซึ่งในส่วนของ Street Food ก็สามารถเข้าไปร่วมได้ โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่า จะถูกระเบียบหรือกฎเกณฑ์ มากีดกันการทำมาหากินหรือไม่.