“ข้าวเหนียวมะม่วง” เกิดเป็น “กระแสอื้ออึง” ขึ้นมาเมื่อมีศิลปินแร็พเปอร์สาวไทยนำไปประกอบการโชว์แบบ “หม่ำไปแร็พไป” บนเวทีเทศกาลดนตรีระดับอินเตอร์ที่สหรัฐ อเมริกา แล้วตามมาทั้งกระแสชื่นชมและกระแสติติง ซึ่งก็ว่ากันไป…นานาจิตตัง อย่างไรก็ตาม…ที่ไม่ใช่มะม่วง-ที่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ผลไม้ขึ้นชื่อของประเทศไทย” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนให้เรา ๆ ท่าน ๆ พินิจพิจารณากันในวันนี้ คือ ทุเรียน กับประเด็น ย้อมแมวขาย-หลอกขายทุเรียนไม่ได้คุณภาพ!!

“ผลไม้ไทย” หลาย ๆ ชนิด “สร้างรายได้เข้าไทย”

“ทุเรียน” ก็ทั้งสร้างรายได้เข้าไทย “สร้างชื่อเสียง”

แต่หลัง ๆ มานี้มีกรณี ไทยชื่อเสียเพราะทุเรียน”

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน โดยเฉพาะตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็น “หน้าทุเรียน” มีผลผลิตทุเรียนทยอยออกมาให้คนที่ชื่นชอบผลไม้ชนิดนี้ได้อร่อยกัน ซึ่งไม่เฉพาะคนไทย หากแต่ยังรวมถึงคนต่างชาติด้วย โดยเฉพาะคนจีน ซึ่งในแต่ละปีไทยมีการส่งออกทุเรียนได้เป็นจำนวนมาก ทั้งส่วนที่ส่งไปจีน และประเทศอื่น ๆ โดย เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาไทยส่งออกทุเรียนกว่า 9 แสนตัน มูลค่ากว่า 1.15 แสนล้านบาท …นี่ยังไม่รวมการ เกิดเม็ดเงิน-เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก “ทุเรียน” ในไทยเราเอง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 นี้ ขณะที่บรรยากาศหน้าทุเรียนวนรอบมาอีกครา บรรยากาศค้าขายทุเรียนเริ่มคึกคักขึ้นอีกครั้ง และ “ทุเรียน” ก็เป็นอีกหนึ่งชนิด “ผลไม้ความหวัง” ที่หลายคนหวังให้ “ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ” ในอีกมุมก็เริ่มมี “ปรากฏการณ์เชิงลบ” เกิดขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่หลัง ๆ เกิดขึ้นทุกหน้าทุเรียน นั่นคือการ “ย้อมแมวขายหลอกขาย” ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางเจ้าหน้าที่ก็จับ “ขบวนการส่งออกทุเรียนอ่อน” ได้คาล้งหรือโกดังเก็บในพื้นที่หนึ่ง ขณะเตรียมจะส่งออกไปยังประเทศจีน

“ตุ๋นขายทุเรียนไม่ได้คุณภาพ” นี่ “ทำให้ไทยชื่อเสีย”

นอกเหนือจากส่วนที่ “หลอกลวงผู้บริโภค” ในไทย

ว่าที่จริง…เรื่อง “ผลไม้” ที่รวมถึง “ทุเรียน” นี่ประเทศไทยเราก็ “มีกฎหมายเอาผิดการย้อมแมวขาย-หลอกขาย” ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนให้พิจารณากันอีกครั้งในวันนี้ กล่าวคือ…การหลอกขายผลไม้ โดยการทำให้เชื่อ-การหลอกให้เชื่อว่าผลไม้ที่เสนอขายเป็นผลไม้ที่ได้ “มาตรฐานคุณภาพ” รวมถึงประเด็น “ชนิดพันธุ์” โดยที่ผลไม้ที่ขายจริงไม่ได้คุณภาพ ไม่ถูกต้อง-ไม่ใช่หรือไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้ขายทำให้ผู้ซื้อเข้าใจ ที่ในทางกฎหมายถือเป็นการ “หลอกลวง” นั้น เมื่อมีการหลอกลวงก็จะ “มีความผิด” โดย “ผู้ขายจะมีความผิดตามกฎหมาย” หากมีการ “หลอกขายผลไม้ปลอม” ซึ่งสำหรับ “ผลไม้ปลอม” ในที่นี้นั้น ไม่ได้หมายถึงผลไม้ที่ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุต่าง ๆ หากแต่หมายถึง “การหลอกให้ผู้ซื้อผลไม้เข้าใจผิด-หลงเชื่อ”

“ปัญหา” นี้…เกิดกับผลไม้ที่ตลาดมีความต้องการสูง

แต่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ…แล้วก็มีการ “ตุ๋น”

ที่ผ่าน ๆ มา…กรณีการ “หลอกขายผลไม้ปลอม” ดังที่ว่านี้ “เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ” การหลอกขายผู้บริโภคในประเทศนั้นที่ผ่าน ๆ มาก็ มีดราม่าเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ” ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถจะเอาผิดผู้กระทำ ซึ่งก็รวมถึง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ที่มีฉบับแก้ไขเพิ่มเติม คือ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2556 (ฉบับที่ 2) ซึ่งก็น่าพิจารณา-น่าจะได้ตระหนักกันไว้ด้วยเช่นกัน และกับ “ทุเรียน” นั้น…กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีการระบุไว้ชัดเจน…

กล่าวคือ… ผู้ใดหลอกขาย ทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ซึ่ง ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ที่ระบุไว้ คือ… ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จะต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้งไม่น้อยกว่า 32%, ทุเรียนพันธุ์ชะนี จะต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้งไม่น้อยกว่า 30%, ทุเรียนพันธุ์กระดุม จะต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้งไม่น้อยกว่า 27% ซึ่งเป็นมาตรฐานตามตลาดส่งออก หากผู้ใดนำทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานดังกล่าวมาขาย หรือ ทำให้หลงเชื่อว่าเป็นทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐาน” จะมีความผิด โดยที่…

“ความผิด” เกี่ยวกับการ “หลอกขายผลไม้” นี้…

มี บทลงโทษ” ทั้ง ปรับ” รวมไปถึง จำคุก!!”

ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ผู้ใด ขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อ ในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณแห่งของนั้น อันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ก็ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใด เจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ สาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ไทยมีกฎหมายอยู่พร้อม ใครเป็นเหยื่อหลอกลวงอย่าคิดว่าช่างมันต้องเอาผิดผู้กระทำให้เข็ดหลาบ อีกทั้งน่าจะ ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่เอาผิดผู้กระทำผิด เรื่องนี้ ทั้งกับผู้บริโภคในประเทศ และส่งออก…

ทั้ง ตุ๋นขายในไทยตุ๋นขายส่งออก” ก็ ผิดทั้งนั้น”

ต้อง ช่วยกันล้างบาง” เพื่อ ฟื้นภาพดีผลไม้ไทย”

รวมถึงกับ ทุเรียน” ที่ก็ ยังอื้ออึงเชิงลบทุกปี!!”.