สถานการณ์โควิด-19 ในไทยหลังผ่านสงกรานต์ยังน่าห่วง!! และก็ต้องตามดูว่าการระบาดจะพุ่งพรวดพราดหรือไม่?? แต่ด้วย “แนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด” และ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” ไทยก็คงเดินหน้า “ผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงกับ
การ “เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ” ที่คาดหวังกันว่าช่วงปลายปี ซึ่งเป็น “ช่วงไฮ-ซีซั่น” นั้น ในไทยจะมีบรรยากาศนักท่องเที่ยวต่างชาติคึกคักอีกครั้ง?? พร้อมเกิดเม็ดเงินรายได้ “กระตุ้นเศรษฐกิจไทย” แต่อย่างไรก็ตาม…

ใช้ “แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว” แบบเดิมอาจไม่พอ

แต่ “จำเป็นที่ไทยจะต้องคิดมุกใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้”

และที่นับว่าน่าสนใจก็คือเรื่องของ “ซอฟต์พาวเวอร์”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)” นั้น เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดเวทีระดมความเห็น แลกเปลี่ยนมุมมอง เกี่ยวกับการ “ใช้ประโยชน์จากซอฟต์พาวเวอร์” โดยเฉพาะการนำเครื่องมือนี้มาใช้เพื่อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ซึ่งเวทีดังกล่าวใช้ชื่อว่า “การขับเคลื่อน Soft Power สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อสะท้อน และเสนอแนะ “การนำซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย”…

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำแง่มุมจากเวทีนี้มาสะท้อนต่อ ซึ่งในเวทีมีการฉายภาพ “ซอฟต์พาวเวอร์” ไว้หลายมิติ โดย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ว่า… หากพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ก็จะพบได้ในหลายมิติ โดยที่เห็นพลังได้อย่างชัดเจนก็คือการนำมาใช้ในการเมืองระหว่างประเทศ ที่หลายประเทศนำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์มาใช้โน้มน้าวชักจูงให้ไปในทิศทางที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม สำหรับบทบาทของภาควิชาการ หากจะมองเรื่องของซอฟต์ พาวเวอร์ ก็ ควรจะต้องมองสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 3 ด้านสำคัญ คือ… 1.ทำอย่างไรจะเสริมจุดแข็งที่มีอยู่ให้มากขึ้น? 2.ทำอย่างไรให้สิ่งที่มีอยู่เกิดความยั่งยืนต่อไป? 3.คิดว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้ส่วนอื่นแข็งแกร่งขึ้นด้วย? …เป็น “โจทย์” ที่ปลัด อว. ชี้ไว้

ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. สะท้อนเรื่องนี้ไว้ว่า… ในฐานะภาควิชาการและนักวิจัย ทาง สกสว.ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมเรื่องการใช้ประโยชน์จากซอฟต์พาวเวอร์ จึงหวังว่าเวทีนี้จะช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้สามารถกำหนดโจทย์และเป้าหมายร่วมกันได้ เพื่อให้ภาควิชาการเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนให้เกิดการ ใช้ประโยชน์จากมรดกวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จนนำไปสู่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

โดยมี “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็น “อีกกลไกช่วยสร้าง”

นอกจากนี้ ในเวทีนี้ได้มีการสะท้อนและแลกเปลี่ยนทัศนะกรณี “ส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็น Soft power” ด้วย โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา ระบุไว้ว่า… ซอฟต์พาวเวอร์เป็นโจทย์ยากแต่ทำง่ายสำหรับไทย เพราะไทยมีของดี เพียงแต่ ต้องต่อยอดและทำให้ยั่งยืน” โดยอาจเริ่มจาก “ต้องสร้างพลังศรัทธา” ให้คนเชื่อมั่น รวมถึง “ส่งเสริมอุตสาหกรรมสาระ (Content Industry)” ให้เกิดมูลค่า จนทำให้ผู้ซื้อยอมควักจ่ายในราคาที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่การนำซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพนั้น นายกราชบัณฑิตยสภาชี้ไว้ว่า…

จะ “ต้องจัดระบบให้ดี-ต้องไม่เป็นรูปแบบราชการ”

ขณะที่ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ก็ร่วมสะท้อนไว้ว่า… สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้คือ ธรรมชาติ มรดกวัฒนธรรม และกิจกรรม และนอกจาก “5F” อย่าง Food (อาหาร), Film (อุตสาหกรรมบันเทิง), Fashion (เสื้อผ้า), Fighting (มวยไทย) และ Festival (เทศกาลประเพณี) แล้ว ซอฟต์พาวเวอร์ยังต้องมีเรื่องของ Friendship (มิตรภาพ) อีกด้วย ซึ่งเหล่านี้ประเทศไทยและคนไทยนั้นก็มีครบทั้งหมด แต่การจะเปลี่ยนพลังในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้นั้น จำเป็นที่จะ “ต้องมีแพลตฟอร์มต้องร่วมมือกัน” หลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์จนนำไปสู่การต่อยอด ซึ่งหากสามารถทำได้…

จะมี “สินทรัพย์วัฒนธรรมทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ก็ระบุไว้ว่า… ประเทศไทยร่ำรวยวัฒนธรรมและมีวัตถุดิบจำนวนมาก แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เปลี่ยนเป็นมูลค่าได้มากขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่า… ปัจจัยสำคัญคือเรื่อง “Content Industry” ที่จำเป็นจะต้องผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเดิมกับวัฒนธรรมสากล เช่น “กรณีศึกษาของเกาหลี” ที่เด่นในเรื่องของการแปลงภาษาทางวัฒนธรรมมาเป็นภาษาของศิลปินเกาหลีได้ เป็นต้น และ นอกจากนั้นยังต้องมีเรื่องของ “นโยบายการต่างประเทศที่ชัดเจน” เพื่อจะได้ทราบตำแหน่งและรู้ว่าจะต้องปรับตัวไปแค่ไหน

“การนำซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ให้ได้ผล อาจต้องเริ่มจากการที่เราต้องเป็นสังคมที่ดัดจริตน้อยลง งมงายน้อยลง ซอฟต์พาวเวอร์จึงจะมีพลังและทิศทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ก็คือ สังคมต้องยอมรับความหลากหลาย เพราะเรื่องนี้ทำให้เกิดการสร้างความคิดสร้างสรรค์” …เป็นอีกแง่มุมจากการระบุไว้โดย ผอ.สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เหล่านี้เป็นแง่มุมจากเวทีเกี่ยวกับ ซอฟต์พาวเวอร์”

เพื่อจะหาแนวทางเกี่ยวกับ วิธีใช้ซอฟต์พาวเวอร์”

ก็ต้องลุ้นเหมือนโควิด…ไทยจะใช้ได้ดีแค่ไหน??”.