เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 16 เม.ย. นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 3 ร่วมกับกลุ่ม Bike in the City ปั่นจักรยานสำรวจประเด็นปัญหาและแนวทางปรับปรุงเส้นทางจักรยานบริเวณแนวถนนเลียบด่วน ลาดพร้าว-รามอินทรา ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นจุดที่มีแผนการสร้างทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว สีเทา ประดิษฐ์มนูธรรม และสีน้ำตาล ประเสริฐมนูกิจด้วย

นายสกลธี กล่าวว่า เป้าหมายการลงพื้นที่ปั่นจักรยานสำรวจเส้นทางในวันนี้เพื่อต้องการดูปัญหาและแนวทางการเพิ่ม เส้นทางจักรยานอื่นๆ ใน กทม. เนื่องจากเส้นทางนี้ถือว่าเป็นเส้นทางจักรยานที่สมบูรณ์ที่สุดสามารถนำไปเป็นตัวอย่างในการสร้างเพิ่มเติมในเขตอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ที่เคยทำอยู่แล้ว หรือบริเวณถนนโยธี พระรามหก ที่อยู่ในแผนของตนอยู่แล้ว รวมถึงอาจจะเป็นในส่วนของฝั่งธนฯ ที่ไม่ใช่ถนนที่ต้องใช้ความเร็ว แต่เป็นทางที่ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวต้องการมาสัมผัสเสน่ห์ของชุมชนแม่น้ำเจ้าพระยา

ในส่วนของจุดนี้ เป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น มีรถไฟฟ้าที่จะเป็นการขนส่งสาธารณะหลัก แต่กลับพบว่ายังมีการเดินรถ ขสมก.เพียงสายเดียว ตามนโยบายของตนคือการนำรถไฟฟ้ามาเพื่อขนส่งคนไปยังเพื่อไปยังสถานีไฟฟ้าหลัก หรือขนส่งสาธารณะอื่นๆ จักรยานยังเป็นยานพาหนะสำคัญที่จะนำคนออกจากบ้าน ตรอกซอยต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงคิดว่าหากสามารถทำเส้นทางจักรยาน ให้มีความปลอดภัย และผู้คนสามารถมั่นใจในการเดินทางก็จะช่วยให้คนหันมาใช้จักรยาน เป็นการลดปัญหาด้านการจราจรของ กทม.ไปได้


“ที่จริง กทม. มีเส้นทางจักรยานที่สร้างไว้หลายเส้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพระนคร แต่ที่ผ่านมาถูกรถยนต์ไปจอดทับ ทำให้ผู้ที่ใช้จักรยานไม่สามารถใช้งานได้ เรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจ สำหรับคนที่ใช้รถใช้ถนนให้เคารพสิทธิ การใช้ถนนร่วมกัน ตามนโยบายของผมคือจะปรับปรุงเส้นทางจักรยานให้มีความปลอดภัย และเพิ่มเส้นทางในเขตอื่นๆ เพื่อให้คนใช้จักรยานทั้งเพื่อสุขภาพ และใช้เป็นยานพาหนะ หรือการท่องเที่ยวที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น อย่างเช่น ในพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวอาจจะอยากละเลียดกับบรรยากาศที่เป็นเสน่ห์ของชุมชนเล็กๆ หรือเสน่ห์ของแม่น้ำเจ้าพระยา”

นายสกลธี กล่าวต่อด้วยว่านอกจากนี้ที่ลงพื้นที่สำรวจก็จะเห็นได้ว่าพื้นที่ฟุตปาธต่างๆ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้มีความปลอดภัยทั้งคนที่ใช้จักรยาน ผู้สูงอายุ หรือคนพิการด้วย เพราะที่เห็นอยู่ตอนนี้ส่วนใหญ่ชำรุด และการปลูกต้นไม้ที่ไม่เหมาะสมทำให้รากชอนไชทำให้ทางเดินทางพัง ในอนาคตควรจะถ้าจะทำทางเท้าไม่เพียงแต่จะคำนึงถึงอุปกรณ์ทางเท้าแล้วยังต้องคำนึงถึงต้นไม้ที่จะนำมาปลูกก็ต้องให้เหมาะสม ไม่ใช่ว่าจะเอาต้นอะไรมาปลูกก็ได้เพราะรากจะทำให้ทางเท้าเสียหายได้


“ตอนนี้ทางเท้าพังๆ แบบนี้มีเยอะซึ่งผมคิดว่าการดีไซน์ทางเท้าจะต้องควบคู่ไปกับพันธุ์ไม้ ที่ไม่มีรากจะชอนไชทำให้ทางเท้าพัง ต่อไปเราจะไม่สามารถทำอะไรแบบเดิมไปได้ แต่ต้องดูองค์ประกอบทั้งต้นไม้ อุปกรณ์ที่จะมาทำ ถ้าจะทำทางเท้าให้ดีเหมือนต่างประเทศหรือของเอกชน งบฯ จะต้องแพงกว่านี้อยู่แล้วเพราะว่า ส่วนที่เคยทำกันมา หนึ่งคือประหยัด สองคือง่ายต่อการรื้อ ให้สะดวกกับการซ่อมหรือขุดเจาะของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคอื่น ทั้งประปา ไฟฟ้า ผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องนั่งคุยกับหน่วยงานเหล่านี้ว่าถ้ารื้อแล้วจะส่งคืนในสภาพเดิม สำนักงานโยธาของกรุงเทพมหานครก็ต้องตรวจรับงานให้ดี เพราะถ้าปล่อยผ่านๆ ไปจะเป็นอย่างที่เห็นแบบนี้” นายสกลธีกล่าวเสริมต่อว่าทางเท้าที่เรียบร้อย จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้ทั้งคนพิการและผู้สูงอายุได้สัญจรไปมาอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีแนวความคิดจะเพิ่มรถตู้ช่วยรับส่งผู้สูงอายุ ไปโรงพยาบาล หรือคนพิการไปกิจธุระ แต่เดิมเคยมีอยู่แล้วเป็นโครงการที่อยู่ในกรุงเทพธนาคมที่อาจจะไม่ได้มีเยอะมาก ประมาณ 20-30 คัน โดยต่อไปจะให้แต่ละเขตจะต้องมีรถที่ให้บริการพี่น้องกลุ่มนี้ด้วย