หนึ่งในอาหารสุดที่รักของอินโดนีเซีย อินโดมี ยกตัวเองเป็น “ผู้บุกเบิกของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในอินโดนีเซีย” และผลิตสินค้าราว 19,000 ล้านแพ็กต่อปี เพื่อส่งขายในประเทศมากกว่า 100 ประเทศ

สงครามที่เกิดขึ้นใน ยูเครน หนึ่งในผู้จัดหาข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ก่อให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นในการจัดส่งผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวสาลี จนถึงตอนนี้ ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีต่อการจัดหาข้าวสาลีของอินโดนีเซีย ยังคงไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ความเห็นจากร้านค้าและร้านอาหารท้องถิ่น บอกเป็นนัยว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสินค้าหลักเริ่มหาได้ยากขึ้น

ยูเครนส่งออกข้าวสาลีและ “เมสลิน” ธัญญาหารที่มีส่วนผสมของข้าวสาลีและข้าวไรย์ มากเกือบ 3 ล้านตัน ไปยังอินโดนีเซียในปี 2563 ทำให้ยูเครนเป็นผู้จัดหาธัญพืชระดับต้นของอินโดนีเซีย ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย ในปีเดียวกันนั้นเอง อาร์เจนตินาส่งออกข้าวสาลีและเมสลิน 2.63 ล้านตัน ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ประเทศใกล้เคียงอย่างออสเตรเลียส่งออกเกือบ 831,000 ตัน

ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย เตือนว่าราคาอาหารทั่วโลกปรับสูงขึ้น เนื่องด้วยผลจากความขัดแย้งในยูเครน และสร้างแรงกดดันให้กับตลาดอาหารท้องถิ่น “เราต้องจัดการเศรษฐกิจอย่างรอบคอบในเวลานี้” วิโดโด หรือที่ชาวอินโดนีเซียเรียกว่า “โจโควี” กล่าว

ความโดดเด่นของอินโดมี บะหมี่สำเร็จรูปซึ่งรู้จักกันในบรรจุภัณฑ์หลากสีสัน และรสชาติถูกปากติดใจที่มาจากแป้ง และน้ำมันที่ช่วยเพิ่มรสชาติได้ เป็นที่ชื่นชอบของคนอินโดนีเซียทั่วประเทศ ตั้งแต่นักเรียนสายประหยัด ไปจนถึงผู้ที่ต้องการอาหารว่างจานด่วน

เจนนิเฟอร์ คิม โรเซนซไวก์ รองผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูเอฟพี) ประจำอินโดนีเซีย กล่าวว่า องค์กรของเธอกำลังจับตาดูสถานการณ์ เพื่อสังเกตว่าการจัดหาอาจได้รับผลกระทบอย่างไรได้บ้าง “ณ เวลานี้ เรายังไม่รู้ว่าผลกระทบต่อราคาข้าวสาลี หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นอะไร”

อย่างไรก็ตาม เลสทารี เจ บารานี ผู้ช่วยนักวิจัยที่ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (ซีเอสไอเอส) กล่าวว่า มันมีหลักฐานที่แสดงว่าการจัดหาข้าวสาลีของประเทศอยู่ใต้ความตึงเครียด “เมื่อรัสเซียรุกรานยูเครน กิจกรรมต่าง ๆ ที่ท่าเรือยูเครนหยุดชะงัก” บารานีให้ความเห็น “ยุ้งฉางหลายแห่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ใกล้กับพื้นที่ที่ถูกยึดโดยกองทหารรัสเซีย ดังนั้นแล้ว ภัยคุกคามจากฝั่งผู้จัดหาวัตถุดิบเหล่านี้ เริ่มเป็นจริงมากขึ้น”

บารานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาข้าวสาลีโลกขึ้นสูงที่สุดในรอบ 14 ปี ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา และยังคงขึ้นๆ ลงๆ อยู่ โดยชี้ให้เห็นว่า การบริโภคแป้งในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ในปี 2564 เช่นกัน จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตแป้งอินโดนีเซีย

จนถึงตอนนี้ อินโดมี ยังคงไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS