นอกจากเป็น “เทศกาลปีใหม่ไทย” แล้ว…ช่วง “เทศกาลสงกรานต์” ในไทยยังมีการประกาศให้มี “วันครอบครัว” รวมอยู่ด้วย คือ วันที่ 14 เมษายน โดยมีวัตถุประสงค์ให้คนไทยตระหนักถึง “ความสำคัญของครอบครัว” อย่างไรก็ตาม กับเรื่อง “ความรุนแรงในครอบครัว” นับวันดูจะเป็นเรื่องที่ “สังคมไทยจำเป็นต้องใส่ใจให้มากขึ้น” ทั้งประชาชน และรัฐ… ต้อง “ใส่ใจสนใจยุติความรุนแรงในครอบครัว” รวมถึงต้อง “ใส่ใจสนใจระบบช่วยเหลือเหยื่อ”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ระบบช่วยเหลือ” สำหรับ “เหยื่อความรุนแรง” นั้น กรณีนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจใน เว็บไซต์โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” หยิบยกมาสะท้อนต่อให้พิจารณากัน ณ ที่นี้ ในโอกาสวันครอบครัวปีนี้ โดยข้อมูลน่าสนใจดังกล่าวนี้เกี่ยวกับการศึกษาและ เปรียบเทียบ “ระบบของต่างประเทศ” ได้แก่อังกฤษ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เพื่อใช้เป็น “กรณีศึกษาของไทย” เพื่อจะนำสู่การลดข้อจำกัด และทำให้ระบบการให้ความช่วยเหลือเหยื่อ “ระบบช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุความรุนแรง” ของประเทศไทยนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น…

เริ่มจาก “ระบบของอังกฤษ” เขาจะเน้นให้ความช่วยเหลือ “เหยื่อความรุนแรงทางเพศ” ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การ… มีระบบช่วยเหลือครบวงจรเพื่อให้การดูแลเหยื่อตลอด 24 ชั่วโมง โดยอังกฤษได้ตั้ง “หน่วยงานเฉพาะ” ขึ้นมาดูแล โดยมีชื่อเรียกว่า “SARCs” ทำหน้าที่เป็น ศูนย์บริการทางการแพทย์และนิติเวชเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นแบบ “ครบวงจร (one stop service)” ให้บริการการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ และมีการติดตามผลการรักษา รวมถึงช่วยเก็บหลักฐานนิติเวชเพื่อให้เหยื่อนำไปใช้ในทางกฎหมาย กรณีที่เหยื่อต้องการดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ อีกทั้งช่วยประสานเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ด้วย

ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือของ “อังกฤษ” นั้น โดยสังเขปมีดังนี้คือ… เมื่อเกิดเหตุขึ้น เหยื่อสามารถเข้าไปรับบริการได้ที่ SARCs ซึ่งมีกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยให้บริการ 24 ชั่วโมง ให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ทั้งการตรวจร่างกาย ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจการตั้งครรภ์ รวมถึงให้ยารักษาหรือป้องกันโรค และนำเหยื่อเข้ารับการตรวจทางนิติเวช ซึ่งถ้าหากขณะนั้นเหยื่อยังไม่ประสงค์แจ้งความ ทางศูนย์ก็จะมีการเก็บผลตรวจไว้ให้เหยื่อเป็นระยะเวลา 2 ปี …นี่เป็น “ระบบของอังกฤษ” ที่เน้น“ช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทางเพศ”

สำหรับ “ระบบของสหรัฐอเมริกา” แหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นให้ข้อมูลไว้ว่า… ผลการศึกษาพบว่าระบบช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงจะมีอยู่ 2 ส่วนสำคัญ คือ มีทั้ง “ระบบช่วยเหลือ” และ “ระบบป้องกัน” โดยระบบช่วยเหลือนั้นมีการจัดตั้ง ศูนย์รับแจ้งเหตุความรุนแรง ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ชื่อหน่วยงานคือ “National Domestic Violence Hotline” ซึ่งสามารถรับแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ทั้งทางเว็บไซต์และทางโทรศัพท์ มีระบบช่วยให้เหยื่อปลอดภัยยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบทั้งทางกายและทางใจให้กับเหยื่อความรุนแรงขณะที่ระบบป้องกันมีการใช้ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในครอบครัวเช่น สอนทักษะเลี้ยงดูลูกให้พ่อแม่ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เสริมสร้างด้านเศรษฐกิจ …อีกทั้ง “ระบบของสหรัฐ” ยังมีการ… แทรกแซงเส้นทางที่จะนำสู่ความสัมพันธ์ที่รุนแรง

ขยับมาดูใกล้ ๆ ไทย…กับ “ระบบของมาเลเซีย” ระบบ “ช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรง” นั้น ทางมาเลเซียได้มีการจัดตั้งหน่วยงานชื่อว่า “OSCC (One Stop Crisis Centre)” ขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐทุก ๆ แห่ง เพื่อ ให้บริการแก่เหยื่อทั้งจากเหตุความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงจากเหตุความรุนแรงต่าง ๆ ทั้งเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกกระทำทางเพศ โดยเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อเหยื่อแจ้งเหตุกับโรงพยาบาลแล้ว ทางโรงพยาบาลจะทำการประเมินระดับอาการความรุนแรงตามแนวทางคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยถ้าเป็นผู้ป่วยวิกฤติ ก็จะถูกส่งตัวไปห้องฉุกเฉินเพื่อรักษาก่อน…

ในส่วนของเหยื่อที่อาการไม่วิกฤติ ก็จะได้รับการส่งไปยัง OSCC เมื่อ OSCC รับเคสแล้วก็จะรายงานเหตุไปยังตำรวจ ซึ่งโดยรวมแล้วเหยื่อจะได้รับการรักษาอาการเบื้องต้น ตรวจร่างกาย เก็บหลักฐานนิติเวช จากนั้นก็จะส่งตัวไปหน่วยงานเฉพาะทางตามสภาวะ กรณีเหยื่อมีความเสี่ยงต่อภาวะทางจิตใจก็จะส่งไปที่นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ …นี่เป็น “ระบบของมาเลเซีย” เกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งจุดเด่นของมาเลเซียคือ ครอบคลุมและรวดเร็วในการประสานงานกับหน่วยงานเฉพาะด้านต่าง ๆ… ทำให้เหยื่อเข้าถึงการช่วยเหลือได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลเรื่องนี้ในเว็บไซต์ HITAP ยังมีการเผยถึงผลศึกษา “ระบบช่วยเหลือเหยื่อของไทย” เอาไว้ด้วย ซึ่งผลศึกษาพบว่า… ไทยยังคงมีข้อจำกัดอุปสรรคด้านต่าง ๆโดยแบ่งเป็นในส่วน “เหยื่อ” ที่พบอุปสรรค อาทิ… เรื่องช่องทางร้องเรียน ขาดความรู้ทางกฎหมายหรือสิทธิ หวาดกลัวอิทธิพลของผู้กระทำ ซึ่งทำให้เหยื่อเลือกที่จะไม่ดำเนินการเอาผิดกับผู้ก่อเหตุ ขณะที่ในส่วน “ผู้ช่วยเหลือ” นั้นก็พบว่า ยังขาดการทำงานเชิงป้องกัน ขาดทักษะสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ มีภาระงานล้นมือเกินไป จนทำให้การประสานงานล่าช้า …นี่เป็นข้อมูล “ระบบของไทย” ที่ผ่านมา

ตอนนี้มีข้อมูล “กรณีศึกษาระบบของต่างประเทศ” หวังว่า “ระบบของไทยจะมีการพัฒนาจะดียิ่งขึ้น” “ทั้งช่วยทั้งป้องกันการเกิดเหยื่อความรุนแรง”