การประเมินของ สำนักงานบริหารและงบประมาณ (โอเอ็มบี) ที่ได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว พบว่า ค่าช่วงบนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่องบประมาณภายในช่วงปลายศตวรรษนี้ อาจรวมการสูญเสียรายได้รายปีสูงถึง 7.1% เทียบเท่ากับ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 67 ล้านล้านบาท) ต่อปี เมื่อคำนวณตามค่าเงินในปัจจุบัน

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้คุกคามสังคมและหน่วยงานทั่วทั้งประเทศ ทั้งจากอุทกภัย ภัยแล้ง คลื่นความร้อนสูง ไฟป่า และเฮอริเคน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกัน” แคนเดซ วาห์ลซิง เจ้าหน้าที่สภาพภูมิอากาศและวิทยาศาสตร์ของโอเอ็มบี และประธานเศรษฐกิจ แดนนี ยากัน ระบุในบล็อก “ความเสียหายในอนาคตจะมากกว่าในปัจจุบัน หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และในระดับคงที่”

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ยังพบว่า รัฐบาลกลางจะใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8 แสนล้านบาท) ถึง 128,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 ล้านล้านบาท) ไปกับรายจ่ายรายปี อาทิเช่น การบรรเทาภัยพิบัติชายฝั่งทะเล, ประกันสุขภาพ พืชผลทางเศรษฐกิจ และอุทกภัย, การดับไฟป่า และอุกทกภัยที่หน่วยงานส่วนกลาง

เมื่อปีที่แล้ว คลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ และภัยแล้งในภาคตะวันตกของสหรัฐ ได้ก่อให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง ในรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐออริกอน ซึ่งนับว่าเป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 รัฐ

ภัยแล้งซึ่งคุกคามพื้นที่เป็นวงกว้างในภาคตะวันตกของสหรัฐ ตั้งแต่กลางปี 2563 และมีท่าทีที่จะคงอยู่ หรือเลวร้ายกว่าเดิมในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ตามที่ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (เอ็นโอเอเอ) รายงานในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

โอเอ็มบี กล่าวว่า วิกฤติไฟป่าที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อควบคุมไฟป่าของรัฐบาลกลาง เพิ่มเป็นระหว่าง 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 52,00 ล้านบาท) ถึง 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 แสนล้านบาท) ต่อปี อาคารและสิ่งปลูกสร้างส่วนกลางเกือบ 12,200 แห่ง อาจถูกน้ำท่วมจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งค่าใช้จ่ายทดแทนจะสูงราว 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท)

การขาดนโยบายและการลงมือปฏิบัติเพื่อชะลออัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้อุณหภูมิโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในปลายศตวรรษนี้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS