ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เกิดสถานการณ์ประชาชนบางส่วน เริ่มกักตุนถังออกซิเจนทางการแพทย์และถังออกซิเจนสำหรับใช้ที่บ้าน เนื่องจากปัจจุบันมียอดการติดเชื้อโควิด-19 สูงต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 1.5 หมื่นคน ส่งผลให้การหาเตียง หาโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งการเข้าไปอยู่ในศูนย์พักคอยไม่เพียงพอ มีข่าวการเสียชีวิต ที่บ้านเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ประชาชนตื่นกลัวเกรงว่า หากมีผู้ติดเชื้อในบ้านแล้ว ยังไม่สามารถหาเตียง หรือหา รพ.ได้ จึงแห่ไปซื้อถังออกซิเจน มาเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ส่งผลให้ถังเริ่มขาดแคลน กระทบต่อการจัดหาถังออกซิเจนของการตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชนก่อนส่งตัวไปรักษา และการใช้ถังออกซิเจน ที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดอัคคีภัยที่บ้านได้

นอกจากนี้ล่าสุดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังออกมาเตือนว่า การนำถังออกซิเจนไปใช้เมื่อเริ่มป่วยเป็นโรคโควิด-19 โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และปราศจากการกำกับดูแลของแพทย์ อาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย หากได้รับปริมาณออกซิเจนที่มากเกินไป รวมถึงเป็นความสิ้นเปลืองเกินความจำเป็นอีกด้วย    

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีประชาชนเริ่มวิตกกังวลจนต้องเร่งจัดหา และเก็บท่อออกซิเจนไว้ที่บ้านว่า ได้สั่งการด่วนให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประสานไปยังกลุ่มก๊าซอุตสาหกรรม จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมก๊าซอุตสาหกรรมสยาม โรงงานผู้บรรจุก๊าซ และผู้ผลิตภาชนะบรรจุก๊าซ เพื่อสอบถามถึงความพร้อมในเรื่องของกำลังการผลิต ซึ่งโรงงานผลิตก๊าซทั่วประเทศทั้ง 15 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 1,860 ตันต่อวัน ยืนยัน ศักยภาพการผลิตเพียงพอรองรับความต้องการประชาชนได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้โรงงานทั้ง 15 แห่ง อยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง สงขลา ลำพูน และเชียงใหม่ ปลายเดือนส.ค.นี้จะเพิ่มอีก 1 แห่งที่ระยอง มีกำลังการผลิตเพิ่มอีก 150 ตันต่อวัน หากมีกรณีฉุกเฉินสามารถเพิ่มกำลังการผลิตออกซิเจนได้ถึง 2,200 ตันต่อวัน ขณะที่ปริมาณการใช้ก๊าซออกซิเจนทั้งทางการแพทย์และอุตสาหกรรมปัจจุบันประมาณ 1,260 ตันต่อวัน แบ่งเป็นปริมาณความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ประมาณ 400-600 ตันต่อวัน และความต้องการก๊าซออกซิเจนในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 660 ตันต่อวัน

“ทราบว่ามีประชาชนบางส่วนได้จัดหาและเก็บท่อก๊าซออกซิเจนไว้ที่บ้าน ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตราย เนื่องจากท่อก๊าซออกซิเจนเป็นท่อที่มีความดันสูง หากจัดเก็บหรือใช้งานอย่างผิดวิธีอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ตอนนี้ให้ กรอ.ประสานเอกชนทั้ง 4 กลุ่มเพื่อติดตามการใช้ก๊าซออกซิเจนและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป”

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส (บีไอจี) ในฐานะผู้ผลิตออกซิเจนรายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า บีไอจีขอให้ความมั่นใจว่า สามารถผลิตออกซิเจนเพื่อรองรับระบบสาธารณสุขไทยได้อย่างเนื่องและเพียงพอในระยะยาว เนื่องจากขณะนี้บีไอจีมีกำลังการผลิตออกซิเจนสูงถึง 1,000 ตันต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้ในขณะนี้ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้นอยู่ที่ 400 ตันต่อวัน จากภาวะปกติอยู่ที่ 300-350 ตันต่อวัน