นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า บริษัท มูดีส์ อินเวสเตอส์ เซอร์วิส ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ บีเอเอ1 หรือเทียบเท่า บีบีบีบวก และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ โดยมองว่าประเทศไทยมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีความหลากหลาย และมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจที่จะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและแรงกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ช่วยสนับสนุนการลงทุน
นอกจากนี้ มูดีส์คาดว่าในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิดจะคลี่คลาย และภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวขึ้น จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัว 3.4% และปี 66 ขยายตัว 4.8% ตามลำดับ ขณะที่ภาคการคลังสาธารณะของไทยยังแข็งแกร่ง เมื่อบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน โดยช่วง 2-3 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะยังคงนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง
“หนี้ภาครัฐบาล ปี 65-67 มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยที่ 52-54% ของจีดีพี และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวส่งผลทำให้การขาดดุลงบประมาณและภาระหนี้ลดลง นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมากประกอบกับเงินออมภายในประเทศมีมาก จะช่วยให้ไทยคงความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลในปี 66 ขณะที่ภาคการเงินต่างประเทศ ยังเข้มแข็ง ทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูง รวมถึงมีระดับการลงทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศที่ดี”
นางแพตริเซียกล่าวว่า ขณะที่ปัจจัยสำคัญซึ่งอาจกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ คือ ตัวชี้วัดภาคการคลังและหนี้สาธารณะที่เปลี่ยนแปลงมีนัยยะสำคัญเกินกว่าที่มูดีส์คาด รวมถึงการดำเนินการตามแผนการคลังระยะปานกลาง ตลอดจนปัจจัยทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาคการคลังของประเทศ ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นสุดไตรมาส 4 ปี 64 อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90.1% ต่อจีดีพี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของจีดีพีที่หดตัว และเมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นได้หนี้จะลดลง นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ดีมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดรายได้และสร้างอาชีพให้กับประชาชนในอนาคต