สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของ 30 ชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้มีการเชิญนายดมิโทร คูเลบา รมว.การต่างประเทศยูเครน และรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มพันธมิตรนาโตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ให้เข้าร่วมด้วย


หลังเสร็จสิ้นการพบหารือ นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต แถลงว่า สงครามในยูเครนกำลังเป็นวิกฤติการณ์ด้านความมั่นคงที่ส่งผลกระทบต่อทั้งโลก อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ จีนยังคงมีท่าที “ไม่เต็มใจ” ที่จะแสดงจุดยืนร่วมกับประชาคมโลก ด้วยการประณามรัสเซีย ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลปักกิ่งยังเลือกแสดงจุดยืนร่วมกับรัฐบาลมอสโก “ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิในการเลือกทางเดินของแต่ละประเทศ”


สโตลเทนเบิร์กกล่าวต่อไปว่า ท่าทีดังกล่าวของจีนถือเป็น “ความท้าทาย” และยิ่งทำให้นาโตร่วมด้วยพันธมิตร ต้องเพิ่มการปกป้อง “คุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตย” พร้อมทั้งเผยว่า นาโตและพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เห็นพ้องยกระดับความร่วมมือในมิติทางการเมืองและความมั่นคง ที่รวมถึง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล การหาทางบรรเทาความรุนแรงของภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และท่าทียืดหยุ่นในมิติที่สำคัญ


ด้านรัฐบาลปักกิ่งยังคงปฏิเสธ “ให้ความร่วมมือ” กับนาโตในเรื่องนี้ โดยนายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เคยกล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งไม่ให้ความสำคัญกับ “การสั่งสอนโดยผู้ที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” ซึ่งทิ้งระเบิดถล่มสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเบลเกรด ในเซอร์เบีย เมื่อปี 2534


นอกจากนี้ จีนยังเคยให้ความเห็นว่า นาโตเป็นสหภาพทางทหารที่ก่อตั้ง “ด้วยวัตถุประสงค์แบบสงครามเย็น” ประเทศที่นาโตถือเป็น “ปรปักษ์โดยตรง” คือสหภาพโซเวียต ซึ่งล่มสลายไปแล้ว เมื่อปี 2534 ดังนั้น นาโตก็ควรจะ “ยุบตัวเองไปตั้งแต่ตอนนั้น” พร้อมทั้งวิจารณ์ว่า นาโตพยายามต้อนรัสเซียให้จนมุม และเป็นผู้สุมไฟความขัดแย้งในยูเครน.

เครดิตภาพ : REUTERS