เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 นายอานุภาพ แสนคำ รองประธานอุตสาหกรรม ฝ่ายการค้าชายแดน จ.นคพรนม เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงเกือบ 2 ปี ที่ผ่าน สถานการณ์โควิดได้ส่งผลกระทบหนักต่อการค้าชายแดน ในพื้นที่ จ.นครพนม เนื่องจากเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าทางบก มากสุดคือ ส่งออกประเภทผลไม้ไปประเทศจีน นับว่ามียอดมูลค่าการส่งออกมากสุดของไทย ปีละกว่าแสนล้านบาท โดยจะมีเส้นทางหลัก 3 เส้นทาง คือ เส้นทาง อาร์ 3 เอ ระหว่าง เชียงของบ่อเต็น ส่วนอาร์ 9 คือเส้นทาง มุกดาหาร สะหวันนะเขต สะหวันลาวบาว เชื่อมไปยังเวียดนาม ถึงชายแดนจีน ที่ด่านด่านโยว่อี้กวน และสำคัญที่สุดคือเส้นทาง อาร์ 12 จากนครพนม ผ่านเลาว เวียดนาม ไปจีน ถือว่ามีการส่งออกผลไม้สูงมูลค่าปีละกว่า 1.2 แสนล้านบาท มากสุดของไทย แต่ปัจจุบันผลกระทบจากโควิดพบว่ายอดการส่งออกสินค้ามีมูลค่าลดลงเกินครึ่ง ทำให้ปัจจุบันส่วนใหญ่กลายเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง สาเหตุหลักที่เกิดขึ้นเนื่องจากทางการจีน มีการเข้มงวดด่านนำเข้า ทั้ง 8 ด่าน ในการควบคุม เกี่ยวกับรถขนส่ง พนักงานขนส่ง กระทบการนำเข้าผลไม้ จากเคยนำเข้าวันละ ประมาณ 150-200 คัน เหลือวันละ 10-20 คัน ต้องรอขั้นตอนคัดกรอง บางด่านปิดนำเข้าสินค้า ส่งผลเพิ่มระยะเวลาขนส่ง ผลไม้ได้รับความเสียหาย  จาก 5-7 วัน ถึงจีน เพิ่มเป็น 10-15 วัน  ทำให้ผู้ประกอบการแบกภาระจากกการย้ายการขนส่งไปทางอากาศ รวมถึงทางเรือ

ทั้งนี้ทางสภาอุตสาหกรรมนครพนม ได้เร่งหารือกับทางจังหวัดนครพนม พาณิชย์จังหวัดนครพนม ศุลกากร รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง ในการวางแผนรับมือแก้ไขปัญหาในการเจรจา ใช้เส้นทางอื่นแทนในการขนส่งผลไม้ คือเส้นทางจาก ชายแดน นครพนม อาร์ 12 เชื่อมไปยังลาว ถึงด่าน จอรอ เวียดนาม เข้าสู่ท่าเรือหวุงอ๋าง เวียดนาม จากนั้นขึ้นเรือไปยังท่าเรือชินโจว ของประเทศจีน มั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้พอสมควร เพราะระยะทางจะสั้น จึงอยากผลักดันเจรจากับทางภาครัฐของไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว ชดเชยการขนส่งทางบก

นายอานุภาพ รองประธานอุตสาหกรรม เปิดเผยอีกว่า ต้องยอมรับว่าผลกระทบจากการลดการส่งผลไม้จากจีน แน่นอนที่สุดถึงแม้ จ.นครพนม ไม่ใช่ฐานการผลผลิตผลไม้ จะเป็นแค่ทางผ่าน แต่ปัญหาที่ตามมาคือ กระทบภาพรวมการหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจ ทั้งการค้าขาย อาหาร สินค้าจำเป็น รวมถึง ผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน เพราะมีรถบรรทุกสินค้า แรงงาน พนักงาน จำนวนมากผ่านเข้ามาในพื้นที่ การทำคลังสินค้าในพื้นที่ลดลง ทั้งหมดถือว่าอาจจะได้รับผลดีเป็นส่วนมากหรือน้อย แต่ถือว่าเกิดการหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่วนการเปิดรถไฟลาว จีน ยอมรับว่าอาจจะมีผู้ประกอบการบางส่วน ที่หันไปใช้บริการขนส่ง แต่ปัจจุบันยังมีปัญหาต้นทุนสูง แต่หากมีค่าใช้จ่ายเท่ากับเส้นทางบกปกติผ่าน จ.นครพนม คาดว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนเส้นทางแน่นอน ดังนั้น สิ่งสำคัญ ทางสภาอุตสาหกรรมจึงต้องผลักดันให้เกิดการขนส่งทางเรือ ไปทางเวียดนาม เข้าจีน ชดเชยเส้นทาง อาร์ 12 ที่เกิดปัญหา

นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย เกี่ยวกับด่านจุดผ่อนปรนในพื้นที่ 4 อำเภอ มี อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง รวมถึง อ.ธาตุพนม รวม 5 จุด ซึ่งเป็นจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน ที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนคึกคักมาตลอด แต่ถูกสั่งปิดมานานร่วม 2 ปี ส่งผลกระทบเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถที่จะส่งสินค้าผ่านด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ได้ทั้งหมด โดยล่าสุดทางสภาอุตสาหกรรมได้ เร่งหารือทางจังหวัดหน่วยงานเกี่ยวข้อง เจรจากับทางการลาว เพื่อพิจารณาเปิดด่านจุดผ่อนปรนกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงแม้จะเป็นแค่การขนส่งสินค้า แต่มองว่า สิ่งที่ตามมาคือการค้าในพื้นที่ ตัวเลขเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ประกอบการเรือ แรงงาน ผู้ประกอบการรายย่อย กระทบมานาน เพราะสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภคข้ามไปจาก จ.นครพนม เกือบทั้งหมด เชื่อว่าในเดือนเมษายน นี้ จะสามารถหารือช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเจรจาเปิดด่านจุดผ่อนปรนได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องยอมรับว่า ปัญหาค้าชายแดนกระทบหนักเศรษฐกิจพังแน่นอน อย่างไรก็ตามส่วนสำคัญระดับรัฐบาลต้องรับทราบปัญหานำไปแก้ไขจริงจัง