ไม่ได้เป็นแค่ “เทรนด์ใหม่” เท่า นั้น…กับการที่ “คนในเขตเมือง” หันมา “ทำเกษตร-ปลูกผัก” ซึ่งในปัจจุบันเกิดกระแสความนิยมโดยมีคนเมืองจำนวนไม่น้อยหันมา “ทำฟาร์มในเมือง” ทั้งนี้ เรื่องนี้ไม่ได้ยึดโยงแค่เรื่องของ “สุขภาพ” เท่านั้น แต่ยัง “เกี่ยวพันหลาย ๆ มิติ” อีกด้วย และก็มีนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะได้วิเคราะห์และสะท้อนไว้เกี่ยวกับ…

“ปรากฏการณ์สวนผักคนเมือง” ตามเมืองใหญ่ ๆ

ในปัจจุบันผู้คนหันมา “ทำเกษตรในเมืองเพิ่มขึ้น”

กรณีนี้สามารถ “ใช้เป็นดัชนีชี้วัดทางสังคม” ด้วย

เกี่ยวกับภาพสะท้อน “เทรนด์คนเมืองปลูกผัก” นั้น ทาง ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ นักวิชาการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิเคราะห์และสะท้อนไว้ผ่านบทความเรื่อง “เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายเมืองยั่งยืน” ซึ่งเผยแพร่ใน เว็บไซต์สวนผักคนเมือง โดยระบุว่า… การทำเกษตรในเมืองไม่ได้เป็นแค่เรื่องการปลูกผักไว้กินเองในครัวเรือน หรือเป็นเรื่องมิติทางด้านอาหารเท่านั้น แต่ยัง “มีบทบาทกับมิติการพัฒนาเมือง” อีกด้วย

ทั้งนี้ ทางนักวิชาการท่านนี้ได้ระบุไว้ว่า… สำหรับ “นิยาม” คำว่า “เกษตรในเมือง” นั้น หมายถึง… การปลูกหรือการเลี้ยงดู การทำให้เพิ่มพูน การนำเข้าสู่กระบวนการที่เกี่ยวข้อง และการกระจาย ผลผลิตที่เป็นอาหาร รวมถึงผลผลิตที่ไม่ใช่อาหาร อย่างพืชที่เป็นยาสมุนไพร รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ของทรัพยากร ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และมีอยู่ในและรอบ ๆ บริเวณพื้นที่เมือง โดยที่กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้นั้น… มุ่งเน้นตอบสนองผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเป็นสำคัญ

ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ ยังได้สะท้อนเรื่องนี้เอาไว้ในบทความดังกล่าวอีกว่า… นอกจากการทำเกษตรในเมืองจะช่วยในเรื่องการพึ่งตนเองทางด้านอาหารของคนในเมืองใหญ่แล้ว การทำเกษตรในเมืองที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมือง หรือแม้แต่ในพื้นที่สำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ยังเป็นส่วนหนึ่งของ “กิจกรรมสันทนาการ” ของผู้คนในพื้นที่เหล่านี้ รวมถึงบางพื้นที่ยัง นำเรื่อง “สวนผักคนเมือง” มาใช้เป็น “แหล่งเรียนรู้” ทั้งกับกลุ่มผู้สูงอายุ หรือแม้แต่เด็กและเยาวชน

“ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้การทำเกษตรในเมืองได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเมือง  (Urban Metabolism) และเชื่อมโยงไปถึงมิติอื่น ๆ ของเมือง เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดการของเสีย การจัดการมลพิษ การใช้พลังงาน การพัฒนาภูมิทัศน์เมือง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว” …นักวิชาการสถาบันนโยบายสาธารณะ มช. ระบุไว้

นอกจากนี้ “ไร่ผักของคนเมือง” ยังเกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงทางอาหารในเมือง (Urban food security)” อีกด้วย โดยสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหนุนเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในด้านต่าง ๆ ได้แก่… ด้านการมีแหล่งอาหารอยู่ (food available) ทั้งยามปกติและยามวิกฤติ, ด้านการเข้าถึงอาหาร (food accessibility) ที่โยงถึงเรื่องของการกระจายอาหาร, ด้านการบริโภคอย่างสม่ำเสมอ (food stability) รวมถึง ด้านการใช้ประโยชน์ในอาหาร (food utility) เป็นต้น

และไม่เพียงจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” ทางนักวิชาการท่านเดิมยังได้สะท้อน “ความสำคัญของการเกษตรในเมือง” ไว้ว่า… เกี่ยวข้องไปถึงเรื่อง “อธิปไตยทางอาหารของคนไทย” อีกด้วย ซึ่ง “สวนผักในเมือง” ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการ “ยกระดับอธิปไตยทางอาหาร” โดยเกี่ยวข้องกับเรื่องของ “สิทธิในการเข้าถึงอาหาร” ของ “กลุ่มคนจนเมือง-กลุ่มคนเมืองชายขอบ” คนป่วย คนชรา คนพิการ รวมถึง “สิทธิในอาหารปลอดภัย” หรืออาหารที่เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของชนชั้นกลาง ซึ่งล้วนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบการค้าอาหารโลก…

เหล่านี้เป็น “มิติที่เกี่ยวโยง” กรณี “สวนผักในเมือง”

ที่เกี่ยวโยงไปถึงประเด็น “อธิปไตยทางด้านอาหาร”

ขณะที่ความสัมพันธ์ของ “เกษตรในเมือง” ในด้าน “มิติการพัฒนาเมือง” นั้นทาง ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สะท้อนไว้เพิ่มเติมว่า… เกษตรในเมืองยังเป็น “ตัวชี้วัดความสามารถของเมือง” ในมิติต่าง ๆ อีกหลาย ๆ ด้าน อาทิ… ความสามารถในการสร้างห่วงโซ่อาหาร, ความยืดหยุ่นของเมืองเพื่อปรับตัวต่อวิกฤติและการเปลี่ยนแปลง, การพัฒนาเครือข่ายทางสังคม, การพัฒนานวัตกรรม และการสร้างการเรียนรู้ของสังคม เป็นต้น

ขณะนี้หลายประเทศได้นำเกษตรในเมืองมาใช้เป็นนวัตกรรม หรือใช้เป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโครงสร้างทางสังคมมากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมนี้สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กับผู้อยู่อาศัยในเมือง รวมถึงใช้ปูรากฐานทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ ปิดท้ายอีกประเด็นที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมสะท้อนต่อ เพื่อชี้เน้น คือ… “นำเกษตรในเมืองมาใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของไทย” ซึ่งทาง ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ เสนอแนะไว้ว่า… ไทยควรนำมาใช้เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของเมืองมากที่สุด เพื่อให้คนเมืองสามารถ “ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง” อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การเข้าถึงแหล่งอาหารสำรองในภาวะฉุกเฉิน เช่น วิกฤติโรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ …เหล่านี้คือ “มิติน่าคิดของเกษตรในเมือง”

นี่ไม่ได้เป็นแค่ “กระแสฟีเวอร์ของคนเมือง” เท่านั้น

“สวนผักในเมือง” นี่ยัง “โยงถึงอธิปไตยด้านการกิน”

“คนในเมืองมิใช่น้อย…ด้อยอธิปไตยทางอาหาร!!” .