เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่อาคารสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำคณะแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์สังกัดสำนักงานสาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ มาจัดเตรียมสถานที่เพื่อใช้จัดงานการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 10 (ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร) “เขตสุขภาพที่ 10 หายเจ็บ หายจน รวมพล คนรักกัญ” ระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย. 65 โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่าง ๆ อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้มาร่วมกิจกรรมสามารถที่จะไปเลือกศึกษาหาความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับกัญชาได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งจัดโซนตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ต้องมารักษาโรคด้วยกัญชาอีกด้วย

นพ.ทนง กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมการไปแล้วพอสมควร ไฮไลต์จะอยู่ที่วันที่ 9 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ ฯพณฯ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ส่วนวันที่ 8 เม.ย. ก็มีกิจกรรมต่างๆ ตามปกติ โดยจะมีการประชุมทางวิชาการ และเสวนาเรื่องกัญชาซึ่งจริงๆ แล้วจะมีทุกวัน โดยจะมีผู้เข้าร่วมมาจาก ผอ.สถาบันกัญชาและมาจากกรมต่างๆ เช่น กรมการแพทย์แผนไทย เป็นต้น

สำหรับการจัดงานแบ่งเป็น 3 โซน โดยโซนแรกเป็นโซนวิชาการ ส่วนโซนที่ 2 ก็คือโซนนิทรรศการก็จะมีการจัดบูธไม่ต่ำกว่า 30 บูธขึ้นไป และโซนที่ 3 คลินิกกัญชาก็คือจะเป็นคลินิกให้บริการรักษาผู้ป่วยและจ่ายยากัญชาให้ มีทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นผู้ตรวจรักษา และจัดยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมให้ไปรับประทาน โดยทั้งหมดจะอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

ด้าน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ยืนยันว่า จ.ศรีสะเกษ มีความพร้อมสำหรับการจัดงานเต็มที่ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้แสดงศักยภาพให้ประจักษ์แล้วว่าเราสามารถจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 “ศรีสะเกษเกมส์” ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตามนโยบาย “อะไรๆ ก็ดี ที่ศรีสะเกษ” สำหรับสถานที่การจัดงานครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ซึ่งมีอาคารสถานที่ที่เป็นสถาปัตยกรรมใหม่ๆ หลายอาคารด้วยกัน และยังมีประสบการณ์รับจัดงานสำคัญๆ ตลอด ทั้งงานระดับประเทศและระดับจังหวัด

ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า จากนโยบายกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่ง จ.ศรีสะเกษ ได้ส่งเสริมในเรื่องการให้บริการด้านการตรวจรักษา และให้คำปรึกษาด้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยสนับสนุนให้เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการในโรงพยาบาลทุกแห่ง เน้นในเรื่องของการติดตามความปลอดภัยในการใช้กัญชาในการรักษาโรคและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมในเรื่องของการผลิต โดยให้ปลูกกัญชาในพื้นที่ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้ดำเนินโครงการปลูกกัญชาในพื้นที่เพื่อส่งผลผลิตให้กับทางกรมการแพทย์แผนไทยในการนำไปผลิตตำรับยากัญชาต่อไป และยังต่อยอดความสำเร็จในรูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และจากทั้งหมดนี้ก็น่าจะสามารถพูดได้ว่า จ.ศรีสะเกษมีการดำเนินงานทั้งในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายนี้เพื่อการสร้างสุขภาพที่ดีพร้อมกับการสร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ให้กับประชาชนชาวศรีสะเกษต่อไป.