สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงตูนิส ประเทศตูนิเซีย เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ว่าประธานาธิบดีคาอิส ไซเอด ปลดนายฮิเชม เมชีชี ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และสั่งระงับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่มีกำหนด พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิคุ้มกันทางการเมืองของสมาชิกทุกคน ขณะเดียวกัน ไซเอดประกาศว่า จะใช้อำนาจบริหารร่วมกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเขาจะเฟ้นหาเองโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ไซเอดซึ่งเป็นนักกฎหมายใช้อำนาจพิเศษตามที่ระบุอยู่ในมาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญ ว่า "ในภาวะฉุกเฉินหรือเร่งด่วน" ประธานาธิบดีสามารถเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารร่วมกัน หรือแทนนายกรัฐมนตรีได้ "จนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ" แต่ไซเอดไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจน ว่าภาวะไม่ปกติที่ตูนิเซียกำลังเผชิญอยู่คือเรื่องใด แต่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติ "อาหรับสปริง" เมื่อปี 2554 และตูนิเซียเป็นประเทศเริ่มต้นของ "แผ่นดินไหวทางการเมือง" ที่สะเทือนเป็นลูกโซ่ไปยังหลายประเทศในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง
ด้านนายราเชด กันนูชี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของตูนิเซีย เรียกร้องประชาชนลุกฮือแสดงพลังต่อต้านการดำเนินการของไซเอด ที่ไม่ต่างอะไรกับ "การรัฐประหารรัฐสภา" และยืนยันว่า สภาจะเดินหน้าประชุมต่อไปตามกำหนดการ ขณะที่ผู้นำตูนิเซียเตือนว่า กองทัพจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับบุคคลใดก็ตามที่ซ่อมสุมกำลัง และเตรียมปลุกระดมให้เกิดการขัดขืนต่อการใช้อำนาจรัฐ
ประธานาธิบดีคาอิส ไซเอด รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2562
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุดของตูนิเซีย เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในชื่อ "แนวร่วม 25 กรกฎาคม" จัดการประท้วงตามเมืองใหญ่หลาแห่ง ในวันครบรอบ 64 ปีการเป็นเอกราชของตูนิเซีย ท่ามกลางการเมืองที่ยังไร้เสถียรภาพ และวิกฤติเศรษฐกิจที่ยังคงกัดกร่อนบ้านเมืองตั้งแต่ช่วงอาหรับสปริง และสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีก จากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19
อนึ่ง รัฐธรรมนูญของตูนิเซียระบุชัดเจน ว่าอำนาจบริหารแทบทั้งหมดอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี แต่ประธานาธิบดีมีอำนาจโดยตรงในด้านการทหารและการต่างประเทศ แต่หลังจากเกิดความวุ่นวายที่ศูนย์ฉีดวัคซีนหลายสิบแห่งในประเทศ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไซเอดสั่งให้กองทัพเข้ามาบริหารจัดการเรื่องนี้แทน.

เครดิตภาพ : AP, REUTERS