เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หมายเลข 11 ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นนโยบายพื้นที่อาหารของเมือง ในเวทีปากท้องของคนกรุง โดย น.ต.ศิธา กล่าวถึงแนวทางที่ภาครัฐ หรือ กทม.จะจ่ายงบประมาณไปให้ตรงใจประชาชน ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายงบตรงใจแก้ปัญหาวิธีคิดของระบบราชการที่จัดงบประมาณและจัดโครงการไม่ตรงความต้องการของแต่ละพื้นที่ โดยจะใช้ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่มาบริหารจัดการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณ มีการยืนยันตัวตนว่าอยู่ในพื้นที่จริงหรือไม่ อยู่ในกลุ่มไหน ต้องการการพัฒนาหรือการสนับสนุนในเรื่องใด ซึ่งชุมชนจะกำหนดงบประมาณของตัวเองที่จะใช้ในพื้นที่ ตลอดจนมีอำนาจในการเลื่อน ลด ปลด ย้ายข้าราชการ กทม. พร้อมทั้งต้องเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ราชการ กทม.ทุกระดับ ที่ต้องเป็นข้ารับใช้ประชาชน เพราะกินเงินเดือนกินภาษีของประชาชน ต้องทำงานให้ถูกใจประชาชน ประชาชนจะบอกเองว่าใครสมควรอยู่ตรงตำแหน่งไหนนั้นประชาชนจะมีส่วนร่วมกำหนด และข้าราชการ กทม. 90% ต้องการเป็นข้าของแผ่นดิน ข้ารับใช้ประชาชนที่แท้จริง และต้องการที่จะเจริญในหน้าที่การงานของเขาโดยที่ไม่พึ่งระบบอุปถัมภ์มาสนับสนุน

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า การผลักดันเรื่องอาหารที่เกี่ยวกับปัญหาปากท้องของผู้มีรายได้น้อยว่า ถ้าตนได้เข้าไปเป็นผู้ว่าฯ กทม. อันดับแรกในการช่วยเหลือคือ หาบเร่แผงลอย ที่จุดแข็งของประเทศไทย คือ สตรีทฟู้ด ที่ต้องรักษาเอาไว้เพราะเป็นเอกลักษณ์ที่นำสู่รายได้ จะทำให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นมิตรกับพ่อค้าแม่ขาย จะไม่ใช่ผู้คอยตรวจสอบและจับผิด แต่ต้องอำนวยความสะดวกให้สามารถค้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย โดยสิ่งแรกที่จะทำ คือ ให้ทุกเขตเสนอเข้ามาว่า แต่ละพื้นที่มีผู้ค้าอยู่เท่าไหร่และจำนวนที่เหมาะสมคือเท่าใด หากมีคู่ค้ามีจำนวนมากเกินความเหมาะสม ต้องมีพื้นที่อื่นรองรับให้ สำหรับการใช้พื้นที่ว่างเปล่าทั้ง ของ กทม.และเอกชน เพื่อผลิตอาหารหรือปลูกผักสวนครัวนั้น มีแนวทางให้ชาวชุมชนในแต่ละเขตบริโภคและจำหน่ายหรือแนวทางผักปลอดสาร อาหารปลอดภัยที่ตัวแทนชุมชนเสนอ รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่สันทนาการสวนสาธารณะและออกกำลังกาย

ทั้งนี้การขอความร่วมมือหน่วยงานของรัฐไม่ยาก สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนมาร่วมดำเนินการได้และตนเคยทำสำเร็จมาแล้ว ในการสร้างสนามจักรยานที่ดีที่สุดติด 1 ใน 3 ของโลก ระยะทางเส้นทาง 23.5 กิโลเมตร ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนที่ดินของเอกชนก็ใช้กฎหมายเข้าไปช่วยโดยเฉพาะมาตรการภาษี ซึ่งจะประสานกับ NGO นักพัฒนาชุมชนต่างๆ ที่มีความรู้และทำงานด้านที่เกี่ยวข้อง มาเสนอโครงการ เพื่อให้แต่ละชุมชนหรือแต่ละเขต มีพื้นที่ปลูกผักของตัวเองครอบครัวละ 1-2 แปลงตามความพร้อม หากผู้ที่ไม่ปลูกหรือผู้มีรายได้ ต้องการผักปลอดสารพิษก็สามารถซื้อหาได้ในราคาถูกและใกล้บ้านเป็นโครงการเรียก from farm to table “จากที่ปลูกถึงโต๊ะอาหาร”

น.ต.ศิธา กล่าวถึงเรื่องที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในชุมชนแออัดว่า เมื่อมีการไล่รื้อเวนคืน มักย้ายชาวชุมชนไปอยู่ที่ห่างไกลจากที่ทำงานหรือให้ไปอยู่บนแฟลต แต่ท้ายที่สุดต้องกลับมาอยู่เพิ่งพักในชุมชน เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและอาชีพ ดังนั้นการจัดที่อยู่อาศัยจัดสรร ต้องให้อยู่ใกล้ที่ทำงานและสอดคล้องกับอาชีพชาวชุมชนแต่ละแห่งด้วย ส่วนด้านการศึกษานั้น ตนให้นิยามว่า “โรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน” เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้โรงเรียนทุกแห่งมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งทางโภชนาการและความรู้ มีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกลับโลกสมัยใหม่รวมถึงมีนักโภชนาการตรวจสอบคุณภาพอาหารกลางวัน ซึ่งไม่ใช่การเสนอเชิงอุดมคติ เหมือนกับผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา ที่ต้องการความเป็นเลิศทางวิชาการแบบเลื่อนลอยเท่านั้น เพราะยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ ทั้งในเรื่องโอกาสและมาตรฐานของสถาบันแต่ละแห่ง จึงต้องสร้างโรงเรียนทุกอย่างให้มีมาตรฐานทัดเทียมกัน.