นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มี.ค.65 เท่ากับ 104.79 เพิ่มขึ้น 5.73% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.64 สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 51 ส่วนเงินเฟ้อรวม 3 เดือนแรกปี 65 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 4.75% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออกอยู่ที่ 102.43 เพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.64 รวม 3 เดือนเพิ่มขึ้น 1.43%
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน มี.ค.65 สูงขึ้น มาจากสินค้ากลุ่มพลังงานเพิ่ม 32.43% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูง 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูง 39.95% รวมถึงสินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ ผักสดเพิ่ม 9.96% เนื้อสัตว์ สุกร ไก่สด เพิ่ม 5.74% ไข่ไก่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่ม 6.08% เครื่องประกอบอาหารเพิ่ม 8.16% อาหารบริโภคในบ้าน เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 6.28% และอาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เพิ่ม 6.15% โดยปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ และยังมีสาเหตุจากราคาเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ
“ทั้งเดือน มี.ค.65 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 280 รายการ สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 59 รายการ และราคาลดลง 91 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ส้มเขียวหวาน ขิง ค่าธรรมเนียมการศึกษา ถั่วฝักยาว ค่าเช่าบ้าน กล้วยหอม และน้ำยาซักแห้ง”
นายรณรงค์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน เม.ย.2565 ถ้าดูจากตัวเลขในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดย ม.ค.เพิ่มขึ้น 3.23% ก.พ.เพิ่ม 5.28% และ มี.ค.เพิ่ม 5.73% มีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้น เพราะผลกระทบจากสถานการณ์สงครามเริ่มรุนแรงขึ้น และยังมีสงครามคู่ขนาน ที่หลายประเทศคว่ำบาตร รวมทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของก๊าซหุงต้ม ที่ต้องจับตาดูว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และยังมีความผันผวนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก และต้นทุนสินค้าหลายรายการที่สูงขึ้น
“จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในไตรมาสแรก สนค.ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 65 ใหม่ จากเดิม 0.7-2.4% ซึ่งเป็นเป้าหมายก่อนเกิดภาวะสงคราม แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป จึงปรับเพิ่มเป็น 4-5% ภายใต้การขยายตัวเศรษฐกิจ 3.4-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าในระยะต่อไป สถานการณ์เปลี่ยนไปและดีขึ้น ก็จะมีการปรับคาดการณ์อีกครั้ง”
สำหรับความกังวลที่จะเกิดความผิดปกติทางเศรษฐกิจ สแตกเฟลชันที่เศรษฐกิจตกต่ำแต่เงินเฟ้อสูงนั้น ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศประกอบด้วย เพราะหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีจากการเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้ามา และการส่งออกยังเติบโต รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มาจากต้นทุนที่สูงขึ้น กำลังซื้อยังเป็นปกติ ถือว่าไม่น่าห่วง แต่ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง กำลังซื้อไม่มี เป็นอีกเรื่องที่จะต้องติดตาม