สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ว่ามูลค่าของตลาดระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธ จะดีดตัวสูงขึ้น 72.6% จากบริษัทวิจัยเอเอ็มอาร์ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในโปแลนด์ ที่ประมาณการไว้ราว 73,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เงินทุนล่าช้าและเกิดการจัดสรรใหม่เพื่อช่วยเหลือวิกฤติด้านสุขภาพ “ส่งผลกระทบอย่างมาก” ต่อภาคกลาโหม

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และงบประมาณทางทหารที่เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่จะดันตัวเลขอัตราทบต้นปีละ 5.4% ไปจนถึงปี 2573 ตามที่รายงานระบุไว้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ขอให้สภาคองเกรสจัดสรรงบประมาณกลาโหมแห่งชาติมูลค่าสูงสุด นับตั้งแต่หมดยุคสงคราม เพื่อยกระดับอาวุธนิวเคลียร์ทั้งสามด้าน ประกอบด้วย เรือดำน้ำขีปนาวุธ, เครื่องบินทิ้งระเบิด และขีปนาวุธภาคพื้นดิน

รายงานคาดการณ์ถึงความต้องการหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก เพื่อความสะดวกในการปล่อยโดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดและขีปนาวุธภาคพื้นดิน จะเพิ่มการเติบโตในภาคส่วนนี้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำ (เอสแอลบีเอ็ม) มีสัดส่วนถึงหนึ่งในสี่ ของตลาดในปี 2563

ในขณะที่อเมริกาเหนือครองตลาดโลกมากกว่าครึ่งในปี 2563 รายงานได้คาดการณ์ว่าการเติบโตที่เร็วที่สุด จะมาจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย, ปากีสถาน และจีน เพื่อเสริมคลังแสงนิวเคลียร์ของพวกเขา

“อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาระหว่างประเทศและกิจการค้าร่วม ได้ขัดขวางการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์” บริษัทในรายงานกล่าวสรุปรวม “สิ่งนี้จะทำให้การเติบโตของตลาดหยุดชะงัก”

รายงานคาดการณ์ว่า อิทธิพลของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และความพยายามของนานาชาติที่เพิ่มขึ้น จะทำให้หัวรบถูกเก็บไว้ในคลังมากขึ้น หรือรอการทำลาย

อย่างไรก็ตาม อาวุธที่กำลังมีการใช้งาน ถูกนับรวมใน “ส่วนแบ่งที่มากที่สุด” มากกว่าสองในสามของตลาดในปี 2563 เนื่องจากการลงทุนในคลังแสงนิวเคลียร์ และการซื้อขายหัวรบใหม่

สหราชอาณาจักร, จีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อต้นปีนี้ ว่า จะไม่มีผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์ และเรื่องนี้ต้องไม่เกิดขึ้น

เครดิตภาพ : REUTERS