นายจุรินทร์ กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนมีแนวโน้มเติบโตตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยนอกเหนือจากการเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศแล้ว ไทยยังหวังว่าจะสามารถลดการขาดดุลการค้าลงด้วย

ไทยกับจีนมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นและเจริญรุ่งเรืองมายาวนาน สองประเทศเป็นหุ้นส่วนในวงกว้าง ทั้งด้านความสัมพันธ์ทางการทูต และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยจีนมีความสำคัญต่อไทยอย่างยิ่ง ทั้งในภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก

นายจุรินทร์กล่าวว่า ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ทางการค้าเข้มแข็งมาก และมีความร่วมมือหลากหลายประเภท เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( อาร์เซ็ป )

ไทยหวังว่าจะได้ผลประโยชน์มหาศาลจากอาร์เซ็ป ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ในแง่การเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น และการปรับลดภาษี ตลอดจนการเอื้อให้ไทยและประเทศสมาชิกอื่น ๆ รวมถึงจีน แบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

ข้อมูลจากสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีน ( จีเอซี ) ระบุว่า จีนครองตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย 9 ปีติดต่อกัน โดยปริมาณการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบปีต่อปี สู่ระดับ 131,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 4.36 ล้านล้านบาท ) เมื่อปี 2564

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังแสดงความยินดี กับการเดินหน้าเปิดกว้างเศรษฐกิจของจีน และการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน ( ซีไอไออี ) โดยเขารู้สึกประทับใจกับงานมหกรรมนี้เป็นพิเศษ เพราะมองว่าเป็นนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้นานาประเทศ รวมถึงไทยเองด้วย พร้อมเผยว่าโครงการนี้สำคัญต่อจีน ในฐานะที่จีนเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออก มีเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง เพื่อสร้างความเจริญร่วมกัน ตลอดจนมีความร่วมมือและมูลค่าการค้าที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยหวังทำงานร่วมกับรัฐบาลจีน เพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกด้านการส่งออก เช่น ด่านตรวจและพิธีการศุลกากร โดยฝ่ายไทยหวังว่าจะได้เห็นช่องทางการเปิดรับสินค้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารและผลไม้ไทย ซึ่งได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน

ขณะเดียวกัน ไทยคาดว่าจะมีการขนส่งสินค้าส่งออกไปยังจีนมากขึ้น ผ่านทางรถไฟจีน-ลาว โดยมีผลไม้ ผัก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เป็นสินค้าสำคัญ โดยทางรถไฟจีน-ลาว ความยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเมืองคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กับนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว โดยทางรถไฟสายนี้ได้ขนส่งข้าวไทยลอตแรกจำนวน 500 ตัน ไปยังเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา.

เลนซ์ซูม

เครดิต : XINHUA