ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เลยเป็นจังหวัดที่มีเขตพื้นที่อยู่ทางภาคอีสาน สภาพพื้นที่มีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นภูเขาและที่ราบสูง แหล่งน้ำต่าง ๆ มีสภาพตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ อีกทั้งขาคแคลนแหล่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำที่ช่วยชะลอการไหลของน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้พืชผลทางการเกษตรมีผลผลิตที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลต่อการดำรงชีพของประชาชน เนื่องจากอาชีพส่วนใหญ่ทำการเกษตร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเพื่อทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

อบจ.เลย ได้แก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยโครงการขุดสระเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้ง 14 อำเภอ ใน จ.เลย ที่ผ่านมา ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับโครงการฯ ซึ่งจะเป็นการสมทบทุนในการขุดสระ 1 บ่อ ชาวบ้านจะออกเงิน 5,000 บาท รัฐออกให้ 12,000 บาท ในการขุดสระขนาด 20 x 30 ลึก 3 เมตร โดยเฉลี่ยจะใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ แต่หากว่าถ้าเป็นพื้นป่า แต่ชาวบ้านได้ปลูกพืชและทำมาหากินมานาน ทาง อบจ. จะได้ลงพื้นที่ออกสำรวจ ทำประชาคม ขอมติจากชุมชน จึงได้จะเข้าทำการออกไปขุดสระให้กับเกษตรกรได้ และมีมติผ่านสภาก่อน จึงจะเข้าดำเนินงาน ซึ่งทาง อบจ. จะมีการทำงบประมาณ โดยการเช่าเครื่องจักรชุดขุดสระมาทั้งหมด 24 ตัว ที่ได้เข้าช่วยเหลือชาวบ้านทุกปีที่ผ่านมา แต่โครงการขุดสระการแก้ปัญหาภัยแล้ง ยังไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำการเพาะปลูก มีเนื้อที่ไม่เพียงพอกับการขุดสระได้

แต่เนื่องด้วยการขุดสระ ทำให้เสียพื้นที่ในการใช้สอย และเสียทรัพยากรมากเกิน ไป อบจ.เลย ได้เล็งเห็นถึงการใช้น้ำและเกิดความคุ้มค่า จึงเกิดโครงการขุดเจาะบ่อบาดาล โดยมีวัดถุประสงค์เพื่อการใช้น้ำเพื่อดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตร การเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม และชุมชนในการดำรงชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป

นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายก อบจ.เลย กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการขุดเจาะบ่อบาดาล ผู้ที่จะขอขุดเจาะบ่อบาดาลต้องยื่นความประสงค์ เพื่อที่จะต้องการบ่อบาดาล ต้องเข้าเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ถูกหลักเกณฑ์ โดยบริเวณที่ขุดเจาะต้องมีเอกสารสิทธิ์ โดยมีผู้ถือครอง ขั้นตอนต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบประเมินหาพิกัดในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ดังกล่าว ซึ่งจะมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ชั้นดินที่จะใช้ขุดเจาะเป็นอย่างไร โดยจะมีการสำรวจจากผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะทำการขุดเจาะ หลังเสร็จขั้นตอนการสำรวจ ชาวบ้านมีการสมทบค่าน้ำมันเชื้อเพลิง บ่อละ 5,000 บาท คำขอใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล 500 บาท ค่าใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล 500 บาท ค่าอากรแสตมป์ 30 บาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 10 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,040.00 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่น ๆ มีอุปกรณ์ส่วนควบ เช่น ท่อ อุปกรณ์อื่น ๆ ผู้ร้องขอต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวทั้งหมด

ขณะนี้ รับมอบรถขุดเจาะบ่อบาดาลครบทั้ง 10 ชุด มีผู้ประสงค์ขอจำนวน 17,000 ราย ซึ่งขณะนี้ทยอยออกปฏิบัติการแล้ว 6 จุด มี อ.วังสะพุง ภูกระดึง ภูเรือ ด่านซ้าย และ อ.เมือง ซึ่งขีดความสามารถ 1 ชุด ขุดเจาะได้เดือนละ 5 บ่อ โดยมีเป้าหมาย 600-700 บ่อต่อปี ระหว่าง เม.ย.-ธ.ค. 65