ภาคีเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ผลักดันกลไกที่จะทำให้ถนนปลอดภัย มีความพยายามหาหนทางให้คนในแต่ละจังหวัดหาทาง “ลดตาย” จากการชนบนถนนอย่างจริงจัง มีตัวอย่างหวัดอุดรธานี ก่อนปี 2552 มีการตายปีละ 400-500 รายต่อปี เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์จัดการความเสี่ยง ทำให้ลดการเสียชีวิตลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนุนเสริมงบประมาณ พร้อมเทคนิควิชาการผ่านเครือข่ายวิชาการอย่างศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ใช้โมเดลกับเทคนิคต้นไม้ปัญหา บันได 5 ขั้น กับการใช้โมเดล Swiss Cheese เป็นความรู้ด้านการระบาด มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ระดับจังหวัดวิเคราะห์สาเหตุปัจจัยของปัญหา จนพบวิธีการแก้ปัญหาของพื้นที่ แล้วคัดเลือกจังหวัดที่เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูง มาทดลองนำร่องเป็นพื้นที่งาน ตัวอย่างการทำงานที่เห็นความก้าวหน้า จนมีแนวโน้มจะยั่งยืนได้เองในพื้นที่ เช่น จังหวัดเชียงราย และยโสธร

 “เชียงราย” ใช้บทเรียนอุบัติเหตุถนนกำหนดเป้าหมาย

นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดให้ความสำคัญงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เน้นนำบทเรียนมาออกแบบในการแก้ไขปัญหา โดยกำหนดเป้าหมาย ใช้รูปแบบการแก้ปัญหาไปตามบริบทของพื้นที่ กรณีตัวอย่างการจัดตั้งจุดบริการประชาชนในเทศกาลต่างๆ ในช่วงวันไปและกลับ แต่หลังจากประชาชนที่เข้าพื้นที่แล้ว จะยกจุดบริการประชาชนลงไปในหมู่บ้านแทน ทิ้งคนส่วนน้อยในจุดบริการฯ ซึ่งคนกลับบ้านจะดื่มสุรา จึงมีข้อสั่งการให้ทุกหมู่บ้านจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ผู้ใหญ่บ้านจะช่วยคอยเฝ้าระวัง บ้านไหนมีคนเมาต้องขับขี่กลับบ้านจะแจ้งให้ญาติมารับ หรือพาไปส่งบ้านแทน จากการดำเนินนโยบายดังกล่าวลดจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุในเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาได้ถึง 40%

ส่วนมาตรการบังคับใช้กฎหมาย จะเน้นดำเนินการด้วยความห่วงใย กรณีที่มีผู้เมาแล้วขับ จะยึดรถ หรือไม่สวมกันน็อก จะเน้นจับปรับอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาลเพราะต้องยอมรับจิตสำนึกของคนยังไม่มีในเรื่องการสวมหมวกถ้าจับปรับเข้มข้นตลอดเวลา จะถูกร้องเรียนว่ารังแกประชาชนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย บอกเล่าถึงเทคนิคการทำงานป้องกันอุบัติเหตุ

“คนเวียงป่าเป้า” แก้จุดเสี่ยงทางหลวง 118

ทางหลวง 118 เส้นทางสัญจรสำคัญจาก จ.เชียงใหม่ เดินทางสู่ จ.เชียงราย ผ่าน อ.เวียงป่าเป้า เป็นจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องด้วยสองข้างเป็นที่ตั้งของชุมชน และมีถนนจากหมู่บ้านสู่ทางหลวง อีกทั้งระดับทางหลวงสูงกว่าถนนของชุมชน จึงเป็นจุดบังตา ทำให้กลายเป็นจุดเสี่ยง

 นอกจากนี้ยังมีจุดเสี่ยงตั้งแต่ทางลงโค้งแม่ขะจาน จากถนนสี่เลนเปลี่ยนมาเป็นสองเลน และยังมีรถจอดอยู่บนบริเวณไหล่ทาง รถใช้ความเร็วมา จึงต้องลดความเร็ว จากการสอบสวนอุบัติเหตุพบว่าผู้ขับขี่ที่ผ่านเส้นทางนี้จะรู้สึกอึดอัด ในการขับขี่ และเมื่อพ้นเขตชุมชนเป็นช่องทาง 4 เลนอีกครั้ง ผู้ขับขี่จะใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น เพราะรู้สึกว่าใช้ความเร็วได้จึงเกิดอุบัติเหตุเพราะผ่านจุดที่ขับช้ามา

อย่างไรก็ตามอำเภอเวียงป่าเป้าใช้กลไกอำเภอในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบในรูปแบบ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีนายอำเภอเป็นประธาน โดยทำงานร่วมกับตำรวจในการสืบสวนอุบัติเหตุ จนได้ข้อมูลจาก 3 ฐาน พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากถนนในพื้นที่ปีละ 20 ราย และมีข้อค้นพบว่าอุบัติเหตุมาจาก 4 สาเหตุคือ 1.ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อก 2.เมาสุราระหว่างขับขี่ 3.ไม่คาดเข็มคัดนิรภัย 4.แสงสว่างบนถนนไม่เพียงพอ

นายบรรจง ขุนเพชร นายอำเภอเวียงป่าเป้า กล่าวว่า ทางอำเภอทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน หากพบว่ามีความเสี่ยงจาการดื่มสุรา จะตักเตือนกันเอง หรือขับรถไปส่งไปบ้าน ส่วนปัญหาการไม่สวมหมวกกันน็อก ชาวบ้านสะท้อนว่าหมวกมีราคาแพง ได้ประสานกับบริษัทกลางฯ นำหมวกกันน็อกมาจำหน่ายให้ในราคาต้นทุน นอกจากนี้ในจุดสี่ยงบริเวณทางแยกเทศบาลติดตั้งไฟกะพริบบริเวณทางแยกทางร่วม พร้อมประสานกับกรมทางหลวงให้มาตัดต้นไม้ หลังจากสืบสวนอุบัติเหตุพบว่าต้นไม้บดบังทัศนวิสัยขับขี่

ขณะที่ อ.แม่สรวย แสงทอง สุวรรณ พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้างานอุบัติเหตุฉุกเฉินและนิติเวช รพ.แม่สรวย เล่าว่า ในพื้นที่มีจุดเสี่ยงถึง 20 จุดเสี่ยง และจุดเสี่ยงสำคัญคือบริเวณหน้า รพ.ซึ่งลักษณะเป็นเนิน เป็นจุดบังตาทำให้เกิดอุบัติเหตุกับคนข้ามถนน และยังมีจุดกลับรถ นอกจากนี้เส้นทางของแม่สรวยยังมีทางโค้งจำนวนมาก มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเมื่อฝนตก และปัญหาผู้ขับขี่จักรยานยนต์ล้มเอง เพราะสภาพถนนในชุมชนเป็นทางลาดชัน ซึ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ได้จากการทำงานผ่านกลไกศูนย์ป้องกันอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ระดับอำเภอ

“ยโสธร” มีเป้าต้องไม่ตายบนถนน 18 คนต่อแสนประชากร

สำหรับงานแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอย่างเป็นระบบ นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า ยโสธรมี 9 อำเภอ และสามารถผนึกกำลังได้ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยทางถนน ซึ่งการเข้มงวดไม่เฉพาะเพียงช่วงเทศกาลเท่านั้น ปีนี้ยโสธรครบรอบ 50 ปี จะมีการเพิ่มความเข้มข้นให้เกิดการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน 5 ด้าน คือ 1. การสร้างความตระหนักผ่านสื่อทุกรูปแบบ 2. การบังคับใช้กฎหมาย จับปรับจริง ใช้ด่านชุมชนดูแลการสวมหมวกกันน็อก 100% 3.ด้านถนนและสิ่งแวดล้อมปลอดภัย มีการประชุมจังหวัด อำเภอ เพื่อดำเนินการแก้ไข 4. ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ 5. ด้านการจัดการข้อมูลสารสนเทศ เช่น มีการเก็บข้อมูลคนที่ฝ่าฝืน และกระจายผ่านหอกระจายข่าว

ตั้งแต่ปี 2562 จ.ยโสธร ได้มีการเริ่มเก็บสถิติรายเดือน ออกเป็นรายอำเภอ เก็บรวบรวมจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จากการเสียชีวิตต่อแสนประชากรที่ได้มาต้องไม่เกิน 18 ต่อแสนประชากร หากพบว่าเกินสถิติที่ตั้งไว้เกิน จะประชุมเพื่อถอดบทเรียน โดยมีกรมทางหลวงมารับลูก ขณะที่สถิติปี 65 พบว่า เดือน ม.ค. เสียชีวิตรวม 11 ราย เดือน ก.พ. เสียชีวิตรวม 14 ราย และล่าสุด ณ วันที่ 23 มี.ค. เสียชีวิตรวม 9 ราย

ถอดบทเรียนจังหวัดแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบและทำได้จริง