ในปี 2564 ยุโรปนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย โดยผ่านท่อส่งข้ามประเทศ วันละกว่า 420 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 155,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเท่ากับ 40% ของปริมาณก๊าซที่ยุโรปใช้ทั้งหมด

จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ความวิตกเกี่ยวกับความมั่นคงของอุปทาน สูงขึ้นอีกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรัสเซียประกาศ จะเปลี่ยนสัญญาการชำระเงินค่าก๊าซ เป็นสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียเท่านั้น สำหรับลูกค้าที่อยู่ในบัญชี กลุ่มประเทศและดินแดนที่ไม่เป็นมิตรกับมอสโก ทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดการขาดแคลน และราคาก๊าซสูงขึ้นอีก

เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสหรัฐ ไม่ระบุปริมาณหรืออัตรา แอลเอ็นจีเพิ่มพิเศษ ที่สหรัฐจะส่งให้ยุโรป ขณะที่รายงานระบุว่า ตอนนี้โรงงานแอลเอ็นจีหลายแห่งในสหรัฐ กำลังเร่งผลิตเต็มพิกัด

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ก๊าซที่สหรัฐจะส่งให้ยุโรปตามข้อตกลง ส่วนใหญ่จะมาจากก๊าซที่จะส่งออกให้ประเทศอื่น ๆ เนื่องจากการก่อสร้างโรงงานผลิตใหม่ ตามปกติต้องใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 ปี   

แต่การที่จะนำก๊าซที่เตรียมส่งให้ประเทศหนึ่งตามสัญญาซื้อขาย ไปให้อีกประเทศหนึ่ง ไม่ใช่จะทำได้ง่าย ๆ ตอนนี้ราคาก๊าซในยุโรปสูงอยู่แล้ว และจะสูงขึ้นอีก เพื่อดึงดูดใจผู้ขาย หันมาขายให้ 27 ประเทศในอียู

นักวิเคราะห์ของธนาคารไอเอ็นจี กล่าวว่า แม้สหรัฐจะสามารถส่งก๊าซให้ยุโรปได้ครบ 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามข้อตกลง แต่ก็ยังขาดเหลืออีกเยอะ ในการทดแทนก๊าซนำเข้าจากรัสเซีย ปีละประมาณ 155,000 ล้านคิวบิกเมตรในปี 2564

ภายใต้ข้อตกลง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ยังได้ประกาศแผนการก่อตั้ง หน่วยทำงานเฉพาะกิจ ศึกษาหาแนวทางให้ยุโรปลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลรัสเซีย

อีซีจะประสานงานกับ 27 ประเทศเครือข่ายอียู เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศเหล่านี้ จะได้รับแอลเอ็นจีเพิ่มจากสหรัฐ ประมาณ 50,000 ล้านคิวบิกเมตร อย่างน้อยจนถึงปี 2573

ข้อมูลปีที่แล้ว สหรัฐส่งออกแอลเอ็นจีไปยังยุโรป ประมาณ 22,000 ล้านคิวบิกเมตร

ก่อนหน้านี้ อียูได้เพิ่มความพยายาม หาซื้อแอลเอ็นจีเพิ่ม หลังติดต่อเจรจากับหลายประเทศผู้ผลิต รวมทั้งขอซื้อต่อ จากหลายประเทศที่นำเข้าก๊าซ และขนส่งด้วยเรือบรรทุก สามารถซื้อได้ราว 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเรือบรรทุกกว่า 120 ลำ ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หรือประมาณ 1 เดือน ก่อนที่รัสเซียจะเปิดฉากบุกโจมตียูเครน ในวันที่ 24 ก.พ.

เยอรมนี ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในยุโรป และนำเข้าก๊าซจากรัสเซียมากที่สุด ในบรรดา 27 ประเทศสมาชิกอียู บอกว่า เยอรมนีมีความคืบหน้า “อย่างมาก” ในการดำเนินการไปสู่ การลดพึ่งพาพลังงานรัสเซีย ทั้งก๊าซ น้ำมัน และถ่านหิน

นายโรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี บอกว่า ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี เยอรมนีจึงจะสามารถเลิกนำเข้าพลังงานจากรัสเซียได้ทั้งหมด โดยถึงกลางปี 2567 การนำเข้าจะลดลงครึ่งหนึ่ง และถึงปลายปีเยอรมนีจะเป็นอิสระจากพลังงานรัสเซียโดยสมบูรณ์

ก่อนสงครามยูเครนจะเปิดฉากในวันที่ 24 ก.พ. เยอรมนีนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 35% ของปริมาณการใช้ในประเทศทั้งหมด ส่วนถ่านหิน 50% หรือครึ่งหนึ่ง และก๊าซ 55%

ฮาเบคกล่าวว่า ในส่วนของก๊าซที่เยอรมนีนำเข้าจากรัสเซีย คาดว่าจะหยุดนำเข้าได้ทั้งหมด ประมาณกลางปี 2567 และนับจากนี้รัฐบาลเยอรมนีจะไม่ต่อสัญญาใหม่ สำหรับใบสั่งซื้อพลังงาน จากบริษัทต่าง ๆ ของรัสเซียทั้งหมด.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS