จากรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ สิงคโปร์ อิสมาอิล ซอบรี บอกว่า นอกเหนือจากมาเลเซียแล้ว ภาษามาเลย์ยังมีการใช้ในชีวิตประจำวัน ในหลายประเทศของอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ ชาวไทยภาคใต้ตอนล่าง ชาวฟิลิปปินส์ภาคใต้ และในหลายจังหวัดของกัมพูชา

ตอนเดินทางไปเยือนกัมพูชา เมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ทราบว่า ในกัมพูชามีประชาชนใช้ภาษามาเลย์ประมาณ 800,000 คน เป็นกลุ่มคนเชื้อสายจาม-มาเลย์ ส่วนเวียดนามมีประมาณ 160,000 คน โดยชาวเวียดนามกลุ่มนี้สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษชาวจาม-มาเลย์เช่นกัน

และใน สปป.ลาวมีประชากร “จำนวนหนึ่ง” ใช้ภาษามาเลย์

ในทุกประเทศของอาเซียน ล้วนมีประชาชนที่พูดภาษามาเลย์ได้ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผล ที่มาเลเซียจะไม่สามารถผลักดัน ให้ภาษามาเลย์เป็นอีกภาษา ที่ใช้อย่างเป็นทางการ ขององค์กรร่วมทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อิสมาอิล ซอบรี มีแผนจะพบหารือในเรื่องนี้ กับผู้นำอื่น ๆ ในอาเซียน โดยจะเริ่มจากประเทศที่ใช้ภาษามาเลย์อยู่แล้ว

การเปิดเผยเรื่องนี้ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นการคำถามของนายอิซา อับดุลเลาะห์ ฮามิด สมาชิกวุฒิสภา ตัวแทนชนกลุ่มน้อยเผ่าโอรัง อัสลี (ซาไก) ที่ต้องการทราบ ความพยายามของรัฐบาล ในการเสริมพลังอำนาจภาษามาเลย์ ที่ใช้ในการทูต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อิสมาอิล ซอบรี กล่าวต่อที่ประชุมสภาสูงว่า ปัจจุบันมีเพียงแค่ 4 ใน 10 ประเทศของอาเซียน ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นทางการ ในการประชุมหรืองานกิจกรรมต่าง ๆ ระดับนานาชาติ ส่วนอีก 6 ประเทศใช้ภาษาแม่ ซึ่งต้องมีการแปล

แต่ละครั้งที่เดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ อิสมาอิล ซอบรี มักจะขอให้กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย เตรียมบันทึกสำหรับการแถลง และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นภาษามาเลย์

นายกฯ มาเลเซียบอกว่า ไม่รู้สึกอายหรือขวยเขินแต่อย่างใด ในการใช้ภาษามาเลย์ในระดับนานาชาติ และความพยายามเสริมอำนาจอิทธิพลภาษาของประเทศ ยังสอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ ที่กำหนดไว้ใน กรอบนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลมาเลเซีย (Malaysia’s Foreign Policy Framework) ที่เริ่มดำเนินงาน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ปีที่แล้ว

ส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผน รัฐบาลมาเลเซียสั่งการไปยังกระทรวงการต่างประเทศ จัดอบรมหลักสูตรเข้มข้นภาษามาเลย์ สำหรับเจ้าหน้าที่ทุกคนของกระทรวงฯ ที่จะถูกส่งไปประจำการต่างประเทศ รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวด้วย โดย อิสมาอิล ซอบรี บอกว่า ลูกหลานของเจ้าหน้าที่การทูตบางส่วน อ่อนภาษามาเลย์ เนื่องจากถูกส่งเข้าโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่เด็ก

ก่อนหน้านี้ อิสมาอิล ซอบรี ประกาศต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ (อัมโน) เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลจะออกกฎระเบียบใหม่ กำหนดให้นักเรียนนักศึกษาต่างชาติ ที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วมาเลเซีย ต้องเรียนรู้ภาษามาเลย์ถึงขั้นใช้การได้ และ ดร.นอไรนี อาหมัด รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษามาเลเซีย ได้ตอบตกลงที่จะดำเนินการตามข้อเสนอนี้แล้ว

อิสมาอิล ซอบรี ซึ่งเป็น 1 ใน 3 รองประธานพรรคอัมโน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประชากรกว่า 300 ล้านคนของอาเซียน ใช้ภาษามาเลย์ในชีวิตประจำวัน และภาษามาเลย์เป็นภาษาที่มีผู้ใช้มากเป็นอันดับ 7 ของโลก เขาเชื่อมั่นว่า อีกไม่นาน ภาษามาเลย์จะกลายเป็นภาษาที่ใช้งานอย่างเป็นทางการ ภาษาที่ 2 ของกลุ่มอาเซียนอย่างแน่นอน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES