สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ดิจิทัล แอสเสท (Digital Asset) คือ สินทรัพย์การลงทุนประเภทหนึ่งที่อยู่ในรูปแบบของดิจิทัล มีลักษณะเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สร้างเหรียญดิจิทัลบนเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นต้น
สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล อาจแบ่งได้ 2 ประเภทหลัก คือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และ โทเคนดิจิทัล (Token Digital) มีความแตกต่างกัน ดังนี้
1.คริปโตเคอร์เรนซี คือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจใช้เป็นสื่อกลางเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน ซึ่งตามกฎหมายในไทย ไม่สามารถนำไปชำระค่าสินค้าและบริการได้ หรือที่เรียกว่าเป็นสื่อกลางในการชำระเงิน (Means of Payment) ยกตัวอย่างคริปโตที่เรารู้จักกันดี อย่าง บิทคอยน์ (BTC) อีทเธอเรียม (ETH) เป็นต้น
นอกจากนี้ คริปโตเคอร์เรนซี ยังถูกพัฒนาโดยนำสินทรัพย์อื่นที่มีมูลค่าไปหนุนหลัง ซึ่งจะมีความผันผวนด้านราคาน้อยกว่า และส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่มั่นคง เช่น ทองคำ สกุลเงินต่าง ๆ อย่างดอลลาร์สหรัฐ หรือเงินบาท สมมุติ 1 เหรียญดิจิทัลเท่ากับ 1 บาท ตัวอย่างเช่น เทเธอร์ Tether(USDT) ที่ได้นำเงินดอลลาร์สหรัฐมาหนุนหลังหรือผูกไว้ ทำให้ราคาของ USDT ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับบิทคอยน์ หรืออีทเธอเรียม ซึ่งในที่นี้ เรียกเหรียญประเภทนี้ว่า สเตเบิลคอยน์ (Stable coin)
อย่างไรก็ตาม เหรียญประเภทคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหลายในประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลกเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ให้การยอมรับที่จะสามารถนำมาชำระเงินเป็นค่าสินค้าและบริการได้ เปรียบคือ คริปโตเคอร์เรนซี ไม่ใช่เงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แตกต่างจากเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง อย่าง ซีบีดีซี (CBDC) ที่จะเป็นเงินตราอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังศึกษาออกใช้โดยจะทดสอบเห็นรูปแบบชัดๆช่วงปลายปี 65
2.โทเคนดิจิทัล คือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่วนใหญ่วัตถุประสงค์ในการออกเหรียญโทเคนมาเพื่อระดมทุน หรือใช้เพื่อแลกซื้อสินค้าในวงจำกัด โดยต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal)
โทเคนดิจิทัล แบ่งเป็น 1)โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน หรืออินเวสเมนท์ โทเคน (Investment token) ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ ต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่มีให้สิทธิแก่ผู้ถือ โดยสิทธิโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เช่น ส่วนแบ่งจากรายได้ หรือผลกำไรในการลงทุนโครงการนั้น ๆ
2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือยูทิลิตี้ โทเคน (Utility token) ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาของสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นที่เฉพาะเจาะจง เช่น นำเหรียญโทเคนดิจิทัลประเภท ยูทิลิตี้ โทเคน ไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าในแพลตฟอร์มหรือโครงการนั้น ๆ เช่น บริษัทหนึ่งได้ออก ยูทิลิตี้ โทเคน และมอบให้ลูกค้า เพื่อนำมาใช้แลกสินค้าของธุรกิจในบริษัทนั้น เป็นต้น
สำหรับการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องขอใบอนุญาตจากรมว.คลัง และปฏิบัติตาม คณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนด และต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล โดยใบอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ประกอบด้วย ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Advisory Service) ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Fund manager) และใบอนุญาตผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal)