ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลนำโดยนายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน นำทีมรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ตั้งโต๊ะแถลงมาตรการช่วยเหลือประชาชน หลังจาก ครม. อนุมัติไปล่าสุด
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานคาดจะใช้เงินสำหรับดำเนินมาตรการดูแลราคาพลังงานเพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพและความเดือดร้อนของประชาชนในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ อีกประมาณ 43,000-45,000 ล้านบาท บวกกับเงินที่ภาครัฐอุดหนุนราคาพลังงานไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันที่ 164,228 ล้านบาท จึงคาดว่าจะใช้งบประมาณช่วยเหลือด้านพลังงานรวมประมาณ 200,000 ล้านบาท
“รัฐยังคงยืนยันที่จะดูแลไม่ให้ราคาพลังงานในประเทศสูงกว่า หรือแพงเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็มีความจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นอยู่บ้าง โดยรัฐยังคงดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง”
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐได้ใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนราคาพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ณ วันที่ 20 มี.ค. 65 กองทุนมีสถานะติดลบ 32,831 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าเป็นระดับที่สูงเกินกว่าจะดำเนินการต่อไปได้ จึงมีความจำเป็นต้องปล่อยให้มีการปรับขึ้นราคาพลังงานบางส่วนแบบมีการบริหารจัดการ ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยตัวขึ้นทั้งหมด โดยยอมรับ ฐานะกองทุนจะติดลบเกินกว่านี้ไม่ได้ เพราะไม่มีสภาพคล่อง ต้องปล่อยให้มีการขึ้นราคา แต่ไม่ได้ปล่อยลอยตัวทั้งหมด รัฐจะช่วยอุดหนุนในรูปแบบคนละครึ่งกับประชาชน
“เช่น ถ้าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ที่ 115-135 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกดีเซลในประเทศอยู่ที่ 38-40 บาทต่อลิตร กองทุนจะอุดหนุน 4 บาท ประชาชนออกอีก 4 บาท รวมประชาชนจ่าย 34 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 จากปัจจุบันกองทุนอุดหนุนดีเซลอยู่ 8 บาทต่อลิตร”
นอกจากนี้ จะยกเลิกอุดหนุนราคาดีเซล เกรดพรีเมี่ยม ที่ใช้ในรถหรูประมาณ 1.4 ล้านลิตร/วัน โดยจะปล่อยให้จำหน่ายตามราคาจริง เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปชดเชยกลุ่มอื่นที่มีความจำเป็น แต่ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานยังคงให้ส่วนลดผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 5 บาทต่อลิตร เป็นเงิน 250 บาทต่อเดือน นาน 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 65) เฉพาะกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 157,000 คน เพื่อไม่ให้วินมอเตอร์ไซค์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และไม่ให้ปรับขึ้นค่าโดยสารกับประชาชน
ในส่วนของก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะปรับขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากเดิมที่ตรึงราคาไว้ 318 บาทต่อถัง 15 กก. เป็นเดือน เม.ย. อยู่ที่ 333 บาทต่อถัง 15 กก. เดือน พ.ค. อยู่ที่ 348 บาทต่อถัง 15 กก. เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กก. โดยรัฐจะช่วยอุดหนุนราคาเพิ่มเติม 55 บาท จาก 45 บาท เป็น 100 บาทต่อถัง 15 กก. ต่อ 3 เดือน เฉพาะกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 36 ล้านคน ใช้งบกลางกว่า 200 ล้านบาท
โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ขยายเวลาช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 65 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 5,500 ราย ตามนโยบายรัฐบาล เป็นเงินกว่า 15.6 ล้านบาท รวมทั้งยังขยายเวลาคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ 15.59 บาทต่อ กก. และเอ็นจีวีสำหรับรถแท๊กซี่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 13.62 บาทต่อ กก. อีก 3 เดือน จนถึงวันที่ 15 มิ.ย. 65
ส่วนค่าไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้เงินในส่วนต่าง ๆ มาตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) จนหมดแล้ว จึงจะทยอยปรับขึ้นค่าเอฟทีต่อเนื่องในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 ให้เรียกเก็บอยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย จากอัตราค่าไฟฟ้าจริง หากรัฐไม่มีเงินมาอุดหนุนเลยจะอยู่ที่ 5.07 บาท/หน่วย แต่รัฐบาลยังดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ให้จ่าย 3.7 บาทต่อหน่วย คาดประชาชนได้รับความช่วยเหลือ 20 ล้านครัวเรือน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติปี 63 – ปัจจุบัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นด้านสาธารณสุข 213,581 ล้านบาท การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 869,430 ล้านบาท การรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการบริโภคระบบเศรษฐกิจ 273,508 ล้านบาท