นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาหัวข้อ “ภูมิทัศน์การเงินไทยยุคอนาคต” ว่า คนไทยตื่นตัวเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลสูง เห็นจากการเปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโต เติบโตแบบก้าวกระโดดจาก 7 แสนบัญชีในปี 63 มาเป็น 2.2 ล้านบัญชีในปี 64 และคนไทยถือครองคริปโตต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 20% เป็นอันดับหนึ่งของโลก เทียบค่าเฉลี่ยโลก 10% และมีผู้ใช้คนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารพาณิชย์ ให้ความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์แนวทางกำกับการลงทุนของกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารพาณิชย์ เช่น บริษัทลูก ให้สามารถลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน โดย ธปท. ยังไม่ให้ธนาคารพาณิชย์เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับในหลายประเทศที่ควบคุมการลงทุนเพื่อให้มีความระมัดระวัง เช่น เจพี มอร์แกน, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และ ซิตี้แบงก์ เป็นต้น ลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเฉลี่ย 7,000 ล้านบาท หรือ 0.43% ของเงินกองทุน ถ้าเทียบมูลค่า 7,000 ล้านบาทต่อเงินกองทุนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ 2% ซึ่งไม่เกินเพดานที่ ธปท. กำหนด 3% ของเงินกองทุน

“เพดาน 3% ไม่ได้น้อยเกินไป และเชื่อว่าเพียงพอต่อการลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะแรก เพราะในขณะที่การลงทุนของโลกเฉลี่ย 7,000 ล้านบาท ถ้าจำนวนนี้มาคิดเฉลี่ยต่อเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์เท่ากับ 2% ซึ่งเพดาน 3% หากเกิดความเสี่ยง ความเสียหาย เป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เหมือนกับการลงทุนฟินเทค 3% ของเงินกองทุนด้วยเหตุผลคล้ายกัน และตอนนี้ได้ผ่อนคลายลงทุนฟินเทค 3% โดยไม่มีเพดานกำหนดแล้ว”

ขณะเดียวกัน ถ้าหากกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารพาณิชย์ที่ได้ลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไปแล้ว และสามารถยกระดับได้ 6 ด้าน ทั้งเรื่องธรรมาภิบาล ดูแลความเสี่ยงเทคโนโลยีไซเบอร์ ในเรื่องชื่อเสียง ป้องกันฟอกเงิน ประเมินความสามารถรับความเสี่ยงลูกค้าได้ และการให้บริการลูกค้าเหมาะสม หรือมาร์เก็ตคอนดักท์ ถ้าทำตามที่ ธปท. อยากเห็นได้ ธปท. จะปลดล็อกเพดาน 3% ให้

ส่วนการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่ชัดเจนและมีความเสี่ยง เช่น จะทำเมต้าเวิร์ส ให้เข้ามาทดสอบแซนด์บ็อกซ์กับ ธปท. ต้องดูประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ การเข้าถึงบริการทางการเงินประชาชน ต้นทุนต่ำลงหรือไม่ เมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบจะอนุญาตหรือไม่ ต้องพิสูจน์ว่าทำได้ตามความคาดหวังหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานกำกับ ต้องนับอยู่ภายใต้การลงทุน 3% ของเงินกองทุนไปก่อน

นางรุ่ง กล่าวว่า ธปท. สนับสนุนใช้เทคโนโลยีพัฒนาบริการต่าง ๆ ลดช่องว่าง ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ภายใต้หลักการ 3 เปิดกว้าง ทั้งเปิดกว้างการแข่งขัน ผู้ใช้บริการเข้าถึงต้นทุนเหมาะสม และเปิดกว้างใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพิ่มขึ้น ส่วนความเสี่ยง การใช้เทคโนโลยีต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ดูแลความเสี่ยงไซเบอร์ ความเสี่ยงช่องทางฟอกเงิน และดูผลกระทบความเชื่อมั่นและระบบการเงินโดยรวม

“คริปโตมีราคาผันผวน โดยทั่วไปสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสองอย่าง คือ ความผันผวนของราคามูลค่า ต้องเข้าใจเลือกผลิตภัณฑ์เหมาะสมกับความสี่ยง และอาจถูกหลอกลวง ฉ้อโกง สินทรัพย์ดิจิทัลอาจไม่ได้อยู่การกำกับ อาจถูกหลอกลวง เช่น ในอดีตมีโครงการสินทรัพย์ดิจิทัลและปิดโครงการหนีไปพร้อมเงินลงทุน และใช้เครื่องมือทำสิ่งผิดกฎหมาย การฟอกเงิน สนับสนุนก่อการร้าย ซึ่งทำให้รู้ตัวตนยาก ตรวจสอบยาก ทำให้ผู้กำกับดูแลต่างประเทศ มีแนวโน้มกำกับมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงกระทบระบบเศรษฐกิจการเงินและประชาชน”

ด้านในแวดวงการเงิน ได้มีประเด็นต้องติดตามการเข้าซื้อหุ้นของกลุ่มไทยพาณิชย์ ผ่าน บล.ไทยพาณิชย์ ลงทุนบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือกระดานเทรดคริปโตบิทคับ จะมีมูลค่าเกิน 3% ของเงินกองทุนหรือไม่ จากก่อนหน้านี้ประกาศมูลค่าเข้าซื้อไว้ที่ 17,850 ล้านบาท ถือในสัดส่วน 51%