เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) ประธานกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) เมตตาปรารภธรรมอนุโมทนาชื่นชมบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ความตอนหนึ่งว่า 

คำว่า บัณฑิต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 บัญญัติว่า ผู้ทรงความรู้ ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ ในที่นี้หมายถึง ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งเป็นบุคคลที่คนทั้งหลายยกย่องนับถือ ควรเข้าใกล้ ควรคบหาสมาคม ซึ่ง มโนธรรม ของ บัณฑิต คือ ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ ตรงกันข้ามกับ โมหะ แปลว่า ความหลงผิด ความมืดบอด โง่เขลาเบาปัญญา” 

ในภาวะโลกมืด โดยธรรมชาติดวงจันทร์จะส่องสว่างเฉพาะคืนวันเพ็ญ ส่วนดวงอาทิตย์จะส่องสว่างเฉพาะกลางวันเท่านั้น แต่ในชีวิตจริงของมนุษย์ในโลกนี้ ยังมีความ “มืดมนอนธการ” (มืดมน) ทางจิตใจ ด้วยกิเลส โลภ โกรธ หลง ด้วยตัณหามานะทิฐิ และด้วยทุกข์โศกโรคภัยและปัญหานานาประการ ซึ่งการที่ชาวโลกจะดับทุกข์ความ “มืดมนอนธการ” ต่างๆ ให้เกิดแสงสว่าง คือ สันติสุขสวัสดีแก่ชีวิตได้นั้น ไม่มีแสงสว่างใดจะสู้แสงแห่งธรรมปัญญาได้ ดังพุทธภาษิตว่า “ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต” หมายถึง “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก” ทั้งนี้ เพราะแสงแห่งปัญญานั้น ส่องสว่างได้ทั้งกลางวันและกลางคืน 

ซึ่ง “ปัญญา” จะเกิด และสามารถยังปุถุชนคนธรรมดา ให้เป็น “บัณฑิต” ได้ ก็เฉพาะผู้ต้องการ ปัญญา รู้ปลูกจิตสำนึกของตน จะเห็นได้ว่า “วิชา” กับ “ปัญญา” เกี่ยวข้องกับ “บัณฑิต” และทุกคนผู้ครองชีวิตและกิจการต่างๆ อย่างแยกจากกันไม่ได้เลยก็จริง แต่ถ้าขาด “สติ” คือ “ความระลึกรู้” คอยกำกับ “วิชาและปัญญา” แล้ว แทนที่จะเป็นคุณ ก็กลายเป็นโทษได้ เพราะบางทีอาจนำ “วิชาและปัญญา” นั้น ไปใช้เพื่อทำลายล้างผลาญ บางกาลอาจนำไปใช้ไม่เอื้อประโยชน์ ก่อโทษภัยหายนะแก่ตนและสังคมได้ 

ดังจะเห็นได้จาก “ผู้เชี่ยวชาญวิชา” คือ เรียนเก่ง และ “ผู้มีไหวพริบทางปัญญา” คือ ฉลาดรู้ใน “โลกิยวิชา” หรือมี “โลกิยปัญญา” แต่ “ขาดสติ” ก็จะกลายเป็นคน “รู้ไม่ดี” หรือ “ฉลาดแกมโกง” ก็จะนำเอาวิชาความรู้ หรือนำเอาความฉลาดแบบมีเล่ห์เหลี่ยม ไปหลีกเลี่ยงพลิกแพลง ทำทุจริตมิจฉาชีพ ชนิดไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีลธรรม  

เข้าลักษณะตรงกับพุทธภาษิตว่า “ทุวิชาโน ปราภโว” แปลว่า “ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม” แต่ถ้าตรงกันข้าม ผู้รู้ดี คือมีปัญญาดี และมีสติสมบูรณ์ อยู่ในกรอบแห่งกฎหมายและศีลธรรมอันดี ก็ได้ชื่อว่า เป็น “ผู้รู้ดีแท้” ตรงตามพุทธภาษิตที่ว่า “สุวิชาโน ภวํ โหต” ที่หมายถึง “ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ”   

ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาจารย์ จึงทรงนำหลักเจริญ “มหาสติปัฏฐานสี่” คือ การเจริญสติไปในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม นำเป็นหลักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่ออบรมสติให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจาก “มิจฉาสติ” ไม่วิปริตบกพร่อง แต่เป็น “สัมมาสติ” ที่ถูกต้องบริสุทธิ์ จนบังเกิด “อัปปมาทธรรม” คือ “ความไม่ประมาท” ขึ้นใน “ปัญญา” ปราชญ์จึงกล่าวว่า “สติ” คือ ความไม่ประมาท และความไม่ประมาท คือ บ่อเกิดแห่ง “ปัญญา” ดังคำว่า “สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดไม่เกิดปัญญา” 

สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ตรัสรับรองไว้ว่า ธรรมทั้งหลายสรุปลงอยู่ใน “อัปปมาทธรรม” คือ “ความไม่ประมาท” เกื้อกูลให้เกิด “สัมมาปัญญา” ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงธรรมะทั้งหลายในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงสรุปหมายถึง “ปัญญา” ซึ่งตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ สามารถยังผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ มิให้ตกไปสู่ที่ชั่ว ให้ได้รับผลสมกับการปฏิบัติ คือ ให้พ้นทุกข์ประสบสันติสุขสวัสดีได้อย่างแท้จริง  

……………………………………………..

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี