องค์การสุขภาพภาคพื้นอเมริกา หรือ “ปาโฮ” ( Pan American Health Organization – PAHO ) กล่าวว่า ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน “เป็นภูมิภาคที่สำคัญ” ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนในภูมิภาคแห่งนี้ต้องการวัคซีนอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น แต่ด้วยเงื่อนไขบางประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสภาพสังคม หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตามแต่ การได้รับและจัดสรรวัคซีนในประเทศส่วนใหญ่ของลาตินอเมริกาและแคริบเบียนยังไม่ค่อยทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ควบคุมด้านยาและเวชภัณฑ์ของรัฐบาลคิวบาประกาศ ขึ้นทะเบียนรับรองการใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้กับวัคซีนต้านโรคโควิด-19 มีชื่อทางการค้าว่า “อับดาลา” ( ABDALA ) ชื่อทางเทคนิค “ซีไอจีบี-66″( CIGB-66 ) โดยเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พัฒนาโดยสถาบันฟินเลย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์แถวหน้าของคิวบา ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติของคิวบา
ทั้งนี้ ผลการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกในระยะที่สามของวัคซีนอับดาลา ซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า “ซับยูนิต” คือใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสโคโรนาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ปรากฏในเบื้องต้น ว่าวัคซีนอับดาลา ซึ่งต้องฉีด 3 โดส มีประสิทธิภาพ 92.28%
ขณะที่วัคซีนอีกตัวหนึ่งซึ่งพัฒนาโดยสถาบันฟินเลย์ คือ “ฟินเลย์-เอฟอาร์-2” ( FINLAY-FR-2 ) หรือ “โซเบอรานา 02” ( SOBERANA 02 ) โดยวัคซีนตัวนี้ถือเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวแรกของโลก ซึ่งใช้เทคโนโลยีคอนจูเกต เป็นรวมแอนติเจนที่ตอบสนองได้ดีและไม่ดี เข้ากับโปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสโคโรนา มีประสิทธิภาพ 62% หลังการฉีดแล้ว 2 โดส แต่เมื่อมีการฉีดกระตุ้นเข็มที่สาม หรือ “บูสเตอร์” ที่เรียกว่า “โซเบอรานา พลัส” มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 91.2%
ด้านองค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) มีท่าทีเชิงบวกต่อความสำเร็จด้านการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของคิวบา และคาดหวังให้รัฐบาลฮาวานาส่งข้อมูลสำคัญเข้าสู่การพิจารณา เพื่อรับรองให้ใช้งานในวงกว้างได้เป็นกรณีฉุกเฉิน
แม้คิวบาเป็นประเทศอยู่ภายใต้ระบอบสังคมนิยมพรรคเดียวมานานกว่าครึ่งศตวรรษ และถูกสหรัฐคว่ำบาตรอย่างหนัก แต่คิวบาเป็นหนึ่งในประเทศที่กลไกการแพทย์ และระบบสาธารณสุขได้มาตรฐานสูงเป็นอันดับต้นของโลก เรื่องนี้จึงสร้างความคาดหวังในระดับสูงให้กับทุกฝ่ายในประเทศ
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว รัฐบาลคิวบาของประธานาธิบดีมิเกล ดิแอซ-กาเนล ประกาศอย่างกระชับและได้ใจความว่า “ใครก็ตามในคิวบาที่มีศักยภาพเพียงพอ ในการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขอให้ลงมือทำสิ่งนั้นเดี๋ยวนี้” หลังจากนั้นไม่นานนัก สถาบันฟินเลย์ประกาศโครงการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโรคดังกล่าว โดยใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน
หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการทดสอบวัคซีนคือการใช้งานกับกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ เรื่องนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับหลายประเทศ แต่ไม่ใช่คิวบา ประเทศขนาดเล็กที่แม้มีประชากรประมาณ 11 ล้านคน ทว่ามีหลายครั้งที่บรรดานักวิจัยต้องปฏิเสธความร่วมมือของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเสนอตัวเป็นอาสาสมัครในการทดลองกันอย่างล้นหลาม สะท้อนว่า ชาวคิวบาไม่ลังเลกับการฉีดวัคซีน และการใช้ยาที่ผลิตเองในประเทศ ด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมต่อระบบสาธารณสุข และเทคโนโลยีการแพทย์ของตัวเอง
สำหรับชาวคิวบาแล้ว วิทยาศาสตร์และการแพทย์ “ไม่ใช่เรื่องการเมือง” แต่คือ “เอกลักษณ์ของความเป็นชาติ” พื้นฐานด้านระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพของคิวบา ต้องยกเครดิตให้เป็น “หนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดง” จากวิสัยทัศน์ของฟิเดล คาสโตร กับเช เกบารา ตั้งแต่ยุคปฏิวัติเมื่อปี 2502 ด้วยหลักการว่า “หากคิวบามีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง นั่นคือการปกป้องประชาชน และเป็นพันธกิจของรัฐบาลคิวบา ที่ต้องสร้างและพัฒนาสิ่งนั้นให้แก่ประชาชน”
ชื่อของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งสองตัวในคิวบา คือคำตอบจากความภาคภูมิใจของชาวคิวบาที่มีต่อเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้ง “อับดาลา” ซึ่งมาจากบทประพันธ์เกี่ยวกับความรักชาติ จากปลายปากกาของโฮเซ มาร์ตี บุคคลซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษแห่งชาติของชาวคิวบา” ปลดปล่อยคิวบาออกจากการเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของจักรวรรดิสเปน และ “โซเบอรานา” ซึ่งเป็นภาษาสเปน หมายความว่า “อำนาจอธิปไตย”.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES