จากกรณี นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ และคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินภายใน “ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย” หรือ “มูลนิธิ ชยันโต โพธิธรรมรังสี” อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ จะออกมาเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบแล้วพบว่าพื้นที่ทั้งหมดมี 38 ไร่ ในเฉพาะส่วนที่เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม ส่วนบริเวณรอบๆนั้นใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการจัดให้เช่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนของสำนักปฏิบัติธรรมนั้น ตอนแรกยังไม่แน่ใจว่ามีการตั้งเป็นมูลนิธิฯ หรือยัง แต่เมื่อได้มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดแล้ว พบว่าได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิอย่างถูกต้อง มีหนังสือรับรองแล้ว ส่วนจะยื่นขอเมื่อไหร่นั้นทางธนารักษ์ไม่ทราบ แต่ยังไม่ได้ยื่นเรื่องมาที่ธนารักษ์

สำหรับขั้นตอนนั้น ถ้าเป็นการเช่าทำเกษตรหรือที่อยู่อาศัยนั้น ในเรื่องของการให้ความยินยอม ก็จะเป็นอำนาจของกองพลพัฒนาที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ให้ความยินยอมได้ แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์นอกเหนือจากนั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากกองทัพบก และถ้าเป็นมูลนิธิก็สามารถเช่าได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากกองทัพบกแล้วก็จัดส่งมาที่กรมธนารักษ์เพื่อให้เช่า แต่ทางมูลนิธิฯ อาจจะยังไม่เข้าใจในวิธีการดำเนินการ และไม่เข้าใจในขั้นตอนต่างๆ วันนี้หลายหน่วยงานจึงต้องมาร่วมกันชี้แจงว่า วิธีการจะต้องดำเนินการอย่างไร ในส่วนที่มีการก่อสร้างไปแล้วก็จะต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะให้เช่า โดยจะพิจารณาตามกฎระเบียบ ในส่วนของการดำเนินการที่ผ่านมาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีสัญญาเช่า ก็จะต้องมีการเรียกค่าเสียหายย้อนหลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 มาถึงปัจจุบัน ซึ่งจะต้องไปดูแลในลายละเอียดว่าจะคิดอย่างไร เป็นลายละเอียดของการเช่าซึ่งเป็นเรื่องของทางแพ่ง แต่ในส่วนของเรื่องอาญานั้น จะต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง เพราะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจะต้องดูในภาพรวมว่าจะต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย ผู้ที่บุกรุกทุกคนก็ต้องถือว่ามีความผิด จะต้องถูกดดำเนินการเหมือนกัน แต่ในส่วนของประชาชนนั้นเราก็ขอผ่อนผัน โดยการให้เช่าและให้เข้ามาในระบบ แต่ถ้าบอกว่าจะเลือกปฏิบัติดำเนินคดีอาญาเฉพาะสำนักปฎิบัติธรรมแห่งนี้ นั้นจะเป็นธรรมหรือไม่ ก็จะต้องมาดูในหลาย ๆ อย่าง ต้องดูทั้งองค์ประกอบและต้องดูเรื่องความเป็นธรรมในภาพรวมด้วย ซึ่งจะต้องมีการแยกกันระหว่างคดีอาญาและคดีแพ่ง

ส่วนที่ว่า ทำไมถึงปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 13 ปี เป็นเพราะหน่วยงานทหารนั้น ได้เข้ามาตั้งแต่ต้น แต่ทางสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้บอกว่ามีความประสงค์จะตั้งเป็นวัด และมีการปฏิบัติธรรมที่ชัดเจน ทางหน่วยงานทหารก็รอให้มีการขออนุญาติจัดตั้งวัดกับทางสำนักพุทธฯ ก่อน แล้วก็ผ่านไปยังหน่วยงานทหารและผ่านมายังกรมธนารักษ์ ซึ่งเราไม่ได้มีการปล่อยปละละเลย เพราะเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ซึ่งในส่วนของประชาชนก็เหมือนกันถ้ามาทำการกินทางราชการก็มีการผ่อนผันมาตลอด ไม่อยากถึงขนาดที่จะต้องไปดำเนินคดี แต่ถ้าจะพูดในภาษากฎหมายว่าผิดหรือไม่ก็ต้องบอกว่าผิด แต่จะเหมาะสมจะดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งในเรื่องของความผิดนั้นก็จะต้องดูองค์ประกอบด้วยว่าการกระทำนั้นมีเจตนาหรือไม่ ส่วนเรื่องของการก่อสร้างก่อนที่จะมีการขออนุญาตนั้น เป็นเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร

ด้าน พล.ต.มนิต ศิริรัตนากูล ผู้บัญชากองพลพัฒนาที่ 1 กล่าวว่า ก็คงจะต้องลงไปตรวจสอบในพื้นที่ พลพัฒนาที่ 1 ดูแลอยู่ มีทั้งหมด 12 สำนักสงฆ์ ซึ่งจะต้องมีการไปชี้แจงให้ทราบในวิธีการปฏิบัติ ซึ่งมาตรการของกองทัพบกจะใช้วิธีเบาไปหาหนัก โดยอันดับแรกจะมีหนังสือแจ้งเตือนไปก่อน 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็จะห่างกันประมาณ 1 เดือน แต่ถ้ายังไม่มีการดำเนินการ ทางกองพลพัฒนาที่ 1 ก็จะรวบรวมพยานหลักฐานไปแจ้งความดำเนินคดี แต่ในส่วนมีการปล่อยให้ทางสำนักปฏิบัติธรรมก่อสร้างมานานกว่า 10 ปี นั้น เนื่องจากทางสำนักปฏิบัติธรรมเริ่มมาจากจัดตั้งเป็นวัด และเมื่อสอบถามทางพระ ก็ทราบว่าพระที่ดำเนินเรื่องคนเก่าก็สึกไป คนใหม่ก็มาต่อยอดกัน แต่กว่าจะต่อยอดกันก็อาจจะไม่เหมือนระบบราชการ ซึ่งขั้นตอนมันอาจจะหายไปช่วงระยะหนึ่ง และวานนี้ (21 มี.ค.) ทางกองพลพัฒนาที่ 1 เพิ่งจะได้รับทราบวัตถุประสงค์ว่าขอเปลี่ยนจากวัดเป็นมูลนิธิ แต่ในส่วนลายละเอียดนั้นยังไม่ได้พูดคุยกัน.