เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการสัมมนา “ผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Youth Camp)” ดึงเยาวชนในจังหวัดสุพรรณบุรีร่วมเป็นพลังในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายสรชัด สุจิตต์ ประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารหน่วยงานในจังหวัดสุพรรณบุรี เครือข่ายชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอุดมศึกษาในจังหวัดสุพรรณบุรีเข้าร่วมกิจกรรม ณ โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย จังหวัดสุพรรณบุรี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สำคัญอันดับแรก ๆ ของโลก ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของมนุษย์ที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงอยู่และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา มีการผลักดันตั้งแต่ระดับนโยบาย เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนในระดับปฏิบัติ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชนเป็นอย่างมาก จึงได้ให้การส่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชนในทุกช่วงวัยมาอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมสัมมนา “ผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Youth Camp)” ในครั้งนี้ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนในพื้นที่
จึงนับเป็นเรื่องสำคัญในการขยายเครือข่ายความร่วมมือเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่นตนเองให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับสาระความรู้ควบคู่ไปความสนุกสนานในกิจกรรมที่จัดขึ้น จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการ รวมทั้งประสานและสนับสนุนพื้นที่ทำกิจกรรมและศึกษาดูงานของเยาวชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกด้วย

นายสรชัด สุจิตต์ ประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร มีบทบาทหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ที่ดิน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพยายามผลักดันการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นไปที่เยาวชน ซึ่งนับได้ว่า เป็นพลังสำคัญในการพิทักษ์ รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาเป็นพลเมืองด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพอย่างเข้มแข็งในอนาคตต่อไป อีกทั้ง ในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นหนึ่งจังหวัดที่ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ปัญหาอุทกภัยรุนแรง ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตร ปัญหาการเผาป่า ปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นต้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ จึงได้จัดโครงการสัมมนา “ผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม” ขึ้น ระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2565 ณ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษาในจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 50 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเยาวชนให้รู้เท่าทันพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และเกิดการกระตุ้นเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเยาวชนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

กิจกรรมในครั้งนี้ มีกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้และการศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การเรียนรู้ เรื่อง “การบริหารการจัดการขยะอย่างยั่งยืน” ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ชุมชนบ้านรางพลับ จ.ราชบุรี กิจกรรมปลูกป่า เพื่อเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติป่าแก่งกระจาน ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย การศึกษาดูงาน “โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกษตรทฤษฎีใหม่” ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี การเรียนรู้ เรื่อง “การบริหารจัดการ การพัฒนา และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล” ณ เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ อุทยานแห่งชาติหาดวนกร กิจกรรมศึกษาดูงาน “การศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” รวมไปถึงการเรียนรู้ฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานตามพระราชดำริ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนั้น จะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนของพลังเยาวชนเป็นพลังที่สำคัญในการพิทักษ์ รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเกิดการกระตุ้นเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเยาวชนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ในอนาคต.