วันที่ 21 มี.ค. กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (21-25 มี.ค.) ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดทรงตัวที่ 33.28 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.20-33.55 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเยน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 8-1 ให้ปรับขึ้นกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 25bp สู่ 0.25-0.50% โดยเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี ทั้งนี้ ประมาณการล่าสุดของเฟดบ่งชี้ว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปแตะระดับ 1.75-2.00% ก่อนสิ้นปีนี้ หรือปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 25bp ทุกรอบการประชุมที่เหลืออีก 6 ครั้งในปีนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดย Dot Plot ยังบ่งชี้ว่า ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 2.8% ในปี 2566
ด้านประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ลงมติสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ย 25bp ในการประชุมครั้งนี้ ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25bp สู่ 0.75% ด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ และแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวน้อยลงเกี่ยวกับความจำเป็นสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป
ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คงนโยบายตามเดิม ขณะที่เงินเยนร่วงลงสู่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปี ท่ามกลางราคาพลังงานที่สูงขึ้นและการใช้นโยบายการเงินตึงตัวทั่วโลก ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 11,148 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 8,366 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดว่าตลาดจะให้ความสนใจกับความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายราย หลังประธานเฟดเน้นย้ำว่า เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือกับการปรับขึ้นดอกเบี้ย โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐมีไม่สูง และเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าครั้งละ 25bp หากภาวะเงินเฟ้อไม่คลายตัวลงในระยะข้างหน้า โดยเฟดอาจจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับการลดขนาดงบดุลในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนพฤษภาคม
อนึ่ง กรุงศรีคาดว่าสินทรัพย์เสี่ยงอาจเข้าสู่ช่วงพักฐาน เนื่องจากตลาดได้ซึมซับข่าวเชิงบวกไปค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นคำมั่นของรัฐบาลจีนต่อการสนับสนุนและรักษาเสถียรภาพของตลาดทุน รวมถึงความหวังเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน อย่างไรก็ดี นโยบายของเฟดที่เข้าสู่วัฏจักรคุมเข้มอย่างชัดเจน ความไม่แน่นอนต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ และภาวะเงินเฟ้อโลกจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตร จะช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์ในระยะนี้
สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะติดตามข้อมูลส่งออกนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ และการตอบรับการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ขณะที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มผันผวนสูงต่อเนื่อง