ความเห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ของ พล.อ.ลูฮุท บินซาร์ ปันด์จัยตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมง ซึ่งอ้างประชาชนชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิตกหนักขึ้นไปอีก เกี่ยวกับภัยคุกคามต่อการปฏิรูปประชาธิปไตยของประเทศ 2 ทศวรรษ หลังจากอดีตผู้นำเผด็จการ ประธานาธิบดีซูฮาร์โต ถูกบีบให้ปล่อยวางอำนาจ

รัฐมนตรีอินโดนีเซียหลายคน ซึ่งอ้างความจำเป็น สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ แสดงท่าทีสนับสนุน การขยายวาระดำรงตำแหน่งของวิโดโด วัย 60 ปี ด้วยการเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2567 ออกไป หรือไม่ก็แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยกเลิกขีดจำกัดประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย

นอกจาก พล.อ.ลูฮุท แล้ว นักการเมืองอาวุโสอื่น ๆ ที่ออกมาแสดงท่าที หนุนแนวคิดต่ออายุวิโดโด รวมถึง นายบาห์ลิล บาฮาดาเลีย รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต หัวหน้าพรรคโกลคาร์ และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ และนายมูไฮมิน อิสกันดาร์ รองประธานสภาผู้แทนราษฏร และหัวหน้าพรรคการตื่นตัวแห่งชาติ หรือ พีเคบี (National Awakening Party : PKB)

พล.อ.ลูฮุท เผยในระหว่างการให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ข้อมูลขนาดใหญ่ จากผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในวงกว้าง ทางสื่อสังคม แสดงให้เห็นว่า ชาวอินโดนีเซียเสียงส่วนใหญ่ สนับสนุนให้ต่ออายุการดำรงตำแหน่งของวิโดโด

และโดยส่วนตัวเขาเองก็เห็นดีด้วย โดยต่อขยายออกไปเพียงแค่ครั้งเดียวในครั้งนี้

ชาวอินโดนีเซียฝ่ายสนับสนุน แนวคิดต่ออายุ บอกว่า วิโดโดจำเป็นต้องมีเวลาเพิ่ม เพื่อควบคุมดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ หลังการระบาดของโควิด-19 และสานต่อการดำเนินงานสำคัญตามนโยบาย ที่ยังค้างคา อย่างเช่น แผนการย้ายเมืองหลวงไปที่จังหวัดกาลีมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งมีมูลค่าโครงการมหาศาลถึง 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.06 ล้านล้านบาท) และโครงการยังติดขัดจากการระบาดของโควิด-19

หลังการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม นานกว่า 3 ทศวรรษของซูฮาร์โต สิ้นสุดลงเมื่อปี 2541 แนวคิดขยายขีดจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้สร้างความกลัวในกลุ่มนักวิชาการ ซึ่งบอกว่าจะทำให้การปฏิรูปประชาธิปไตยของประเทศก้าวถอยหลัง

ในบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์จาการ์ตา โพสต์ ฉบับวันที่ 7 มี.ค. 2565 นายเอ็นดี บายูนี เขียนว่า การจุดประเด็นต่ออายุประธานาธิบดี ถือว่าอันตรายมาก และหากปล่อยให้พัฒนาต่อไป ก็หมายถึงประชาธิปไตยของอินโดนีเซียจะล่มสลายอย่งาแน่นอน

นักวิเคราะห์การเมือง และนักวิชาการจำนวนมาก ในแดนอิเหนา เห็นตรงกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อต่อขยายอายุประธานาธิบดี หากทำได้สำเร็จ จะเท่ากับเปิดกล่องชั่วร้าย ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเรื่องอื่น ๆ อีก

เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ วิโดโดเองตอนแรกบอกว่าไม่เห็นด้วยกับแผนการ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้พูดว่า จะยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และทุกคนที่ยึดถือประชาธิปไตย ล้วนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น

ที่ปรึกษาหลายคนของวิโดโดบอกว่า การครองอำนาจสมัยที่ 3 ไม่มีในแผนการ แต่นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักการเมืองคนสำคัญ ถือเป็นการโยนหินถามทาง ทดสอบปฏิกิริยาของสังคม

แม้คะแนนนิยมของวิโดโดอยู่ในระดับสูงมาตลอด แต่โพลสำรวจล่าสุดโดยสำนักแอลเอสไอ (Lembaga Survei Indonesia : LSI) พบว่า 70% ของชาวอินโดนีเซียที่ตอบคำถาม ปฏิเสธแนวคิดประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS