ประเด็นปัญหาด้าน “สิ่งแวดล้อม” ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากมาย ผ่านเวทีระดับชาติ รวมถึงระดับโลก อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ที่เป็นผลจาก ภาวะโลกร้อน (Global warming) ที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น

การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น เกิดจาก ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในบรรยากาศ เพิ่มมากขึ้น จนภาวะเรือนกระจก โดยต้นเหตุก็มาจากน้ำมือของมนุษย์ ที่มีการทำกิจกรรมต่างๆ จนก่อให้เกิด คาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นก๊าซชนิดหนึ่งที่ถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ก็เป็นอีกภาคธุรกิจที่มีความสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ โดยข้อมูลจากสมาคม  GSMA ที่เป็นตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ระบุว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ พลังงานไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีสัดส่วนราว 4% ของทั้งโลก 

 เราจึงเห็นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ผู้พัฒนาเครือข่าย ตลอดจนสินค้าไอทีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ประกาศให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ผู้ผลิตมือถือตื่นตัวมากขึ้น

ในทุกๆปี ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ต่างแข่งกันเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆออกสู่ตลาด จนทำให้ อายุผลิตภัณฑ์(Shelf Life)เหลือเพียง 6  เดือนจากเดิม 12 เดือน และผู้บริโภคมีการเปลี่ยนมือถือเร็วขึ้น จากในอดีตที่จะใช้งานอยู่ที่ 24-36 เดือนต่อเครื่อง ก็ลดลงเหลือ 18-24 เดือนก็มีการเปลี่ยนเครื่องใหม่กัน มีการตามกระแสแฟชั่นซื้อรุ่นใหม่ๆมากขึ้น

เมื่อเปลี่ยนเครื่องกันเร็วมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากเครื่องรุ่นเก่าที่ถูกโละทิ้ง ซึ่งคาดกันว่าในทั่วโลกมีเป็นพันๆล้านเครื่อง ที่ต้องเก็บและกำจัดให้ถูกวิธีเพื่อไม่ให้ เป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อมตามมา

 จึงได้ให้ความสำคัญในการผลิตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมาตรฐานทางอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้ยึดมาตรฐาน RoHS (Restriction of Hazardous Substances) ของสหภาพยุโรปเช่นเดียวกับ ผลิตภัณฑ์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ  เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดสารประกอบเพื่อผลิตเป็นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสินค้าที่จะนำไปจำหน่ายในสหภาพต้องผ่านมาตรฐานนี้ โดยสินค้าที่ผ่านมาตรฐาน RoHS จะมีสัญลักษณ์วงกลม ที่มีตัวอักษร Pb คาดด้วยเส้นเฉียง หรือมีการระบุคำว่า RoHS compliant หรือ Pb-Free อยู่บนสินค้านั้น ๆ

นอกจากนี้เราก็ได้เห็นผลิตมือถืออย่าง แอปเปิล ก็ไม่มีหัวชาร์ทไฟ หรืออแดปเตอร์ชาร์จไฟมาให้กับไอโฟน 12 โดยให้เหตุผลเรื่องช่วยสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ทำให้แบรนด์อื่นๆ ขยับตามกันมา เช่น ซัมซุง ที่ไม่มีอแดปเตอร์ชาร์จไฟ และชุดหูฟังให้แล้วในรุ่นเรือธง หรืออย่าง ออปโป้ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ใหญ่ ก็ได้ลดการใช้พลาสติก ในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ด้วยการหันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย ฯลฯ

 ร่วมลดก๊าซฯ-ขยะพิษ

ในด้านของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ หรือ โอปอเรเตอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่มีการตื่นตัวเช่นกัน ซึ่งในประเทศไทยนั้น หลังจากเริ่มเปิดให้บริการ 5 จี  ตั้งแต่ปี 63  ที่ผ่านมา  ทางโอปอเรเตอร์ ก็เร่งขยายโครงข่ายกันเต็มที่ โดยข้อมูลจาก  สมาคม  GSMA  ระบุว่า ปี 63 ประเทศไทยเป็นหนึ่งที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมที่รวดเร็ว มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเสาสัญญาณถึง 7% ต่อปี

ภาพ pixabay

โดยในส่วนของทางดีแทค ก็ได้มีการประกาศนโยบายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย “ประเทศ ตันกุรานันท์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ของ ดีแทค บอกว่า ในการการขยายโครงข่าย ทางดีแทคตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมา โดยพบว่า การใช้พลังงานในการให้บริการโครงข่าย มีสัดส่วนสูงถึง 94% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของบริษัท และเมื่อเทียบการใช้พลังงานไฟฟ้าพบว่า ดีแทคใช้พลังงานเป็น 2 เท่าของประเทศมัลดีฟส์ทั้งประเทศ จึงได้กำหนดเป้าหมายให้ดีแทคปล่อย ก๊าซเรือนกระจกลดลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030  (พ.ศ.2573 )

 โดยเร่งดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1. การมุ่งใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นลง เช่น ลดขนาดห้องควบคุมเสาวสัญญาณ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารชุมสาย ลดอาคารปฏิบัติงานชุมสาย ฯลฯ

2. การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปี 63 ที่ผ่านมา สามารถรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้กว่า 178,052 กิโลกรัม  โดยจะทำงานร่วมกับผู้ให้บริการคัดแยกและจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีศักยภาพและ เทคโนโลยีในการกำจัด และรีไซเคิลขยะตามมาตรฐานสากลโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

  3. การมุ่งใช้พลังงานทางเลือกในระบบโครงข่าย เช่น ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์  และ4. การมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  ด้วยการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในการพัฒนารูปแบบทดสอบการใช้งาน อาทิ การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ และ ระบบบริหารจัดการ พลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทาง 3 ค่ายมือถือ คือ เอไอเอส, กลุ่มทรู และดีแทค ก็มีโครงการ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถนำโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่มือถือ พาวเวอร์แบงก์ สายชาร์จ หูฟังที่ไม่ใช้แล้วมา มาทิ้งที่จุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตามช้อป เผื่อนำไปกำจัดทิ้งอย่างถูกวิธีด้วย

ภาพ pixabay

 ไอทีประกาศภารกิจหลัก

ในอีกบริษัทด้านไอที อย่าง บราเดอร์ก็ได้ประกาศภารกิจหลักเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยนโยบาย “Environmental Vision 2050” ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรโดยเน้นการ reuse และ recycle มากกว่าการใช้ทรัพยากรใหม่ๆ ซึ่งในระยะแรกนั้น ตั้งเป้าลดปริมาณ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้ได้ถึง 30% ด้วยการดำเนินการภายในองค์กรตลอดจนส่งเสริมภาคสังคมในด้านต่างๆ

ส่วนบริษัทค้าปลีกสินค้าไอที คือ บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจร้าน แอดไวซ์ ศูนย์รวมอุปกรณ์ไอทีครบวงจรที่มีสาขาครอบคลุมกว่า 350 สาขาทั่วประเทศไทย ก็ได้ดำเนินโครงการเพื่อจะลดปริมาณการใช้พลาสติก ภายใต้แนวคิด “สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี ธุรกิจยั่งยืน”โดย ลดการใช้ถุงพลาสติกและ นำลังกระดาษมารีไซเคิลด้วยเครื่องย่อยกระดาษ เพื่อนำมาใช้แทนวัสดุกันกระแทกอย่าง Air Bubble ที่ทำมาจากพลาสติกในการแพ็คสินค้าบางชนิด ฯลฯ

ภาวะโลกร้อน!?!  ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปเพราะส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกใบนี้ หากทุกฝ่ายทั้ง “ผู้ผลิต” และ “ผู้บริโภค” ตื่นตัวและให้ความร่วมมือกัน เชื่อเถอะในอนาคตมีแต่ผลดี….

จิราวัฒน์ จารุพันธ์