เหตุน่าเศร้าเกี่ยวกับคนดังบางคนเสียชีวิตอย่างน่าเคลือบแคลงนั้น เกิด “ประเด็นดราม่า” ตามมาหลายประเด็น…รวมถึงประเด็นการเป็น “ลูก” ของ “พ่อ-แม่” ประเด็นการเป็นพ่อ-แม่ โดยเฉพาะ “การเป็นแม่” ของ “ลูก” ดังที่คงจะพอทราบ ๆ กัน ซึ่งก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม ในมุมของ “การมีลูก” นี่ยุคนี้ “มีปมปัญหาที่สำคัญระดับโลก” โดยมีการคาดการณ์ว่าทั่วโลก รวมถึงไทย จะเผชิญปัญหาผู้คนมีลูกกันลดลง “เด็กเกิดใหม่ลดลง” จนอาจ “ส่งผลกระทบกับสังคมในมิติต่าง ๆ” ซึ่งปัญหานี้ หลายประเทศต่างพยายาม “แก้ปม” และวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มี “กรณีศึกษาในต่างประเทศ” มาสะท้อน…

กรณีการ “จูงใจให้ประชากรสนใจมีลูกกันเพิ่มขึ้น”

ที่อาจจะเป็น “กรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย” ได้?

เกี่ยวกับกรณีศึกษาในต่างประเทศดังกล่าวนี้ ได้มีการสะท้อนไว้ผ่านบทความโดย รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บทความชื่อ “นโยบายส่งเสริมการมีลูกคนที่สอง…สาม…สี่” ซึ่งเผยแพร่อยู่ใน www.theprachakorn.com ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “นโยบายส่งเสริมการมีบุตรในต่างประเทศ” และสะท้อนมุมมองที่ยึดโยงไทย โดยระบุไว้ว่า… “นโยบายส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ” ไม่ควรมุ่งเน้นไปยังคู่สมรสที่ยังไม่มีบุตรเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการมีบุตรคนต่อไปด้วย เช่น “กรณีศึกษาสิงคโปร์” ซึ่งก็ประสบปัญหาการเกิดน้อยมายาวนาน โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการเกิดที่หลากหลายมากประเทศหนึ่ง และหนึ่งในนโยบายที่น่าสนใจก็คือ… นโยบาย “เบบี้โบนัสของเด็กแรกเกิด (Baby bonus)” เพื่อที่จะจูงใจให้ประชากรอยากมีลูก-อยากมีทายาทเพิ่ม

ทั้งนี้ ทาง รศ.ดร.มนสิการ ได้อธิบายเกี่ยวกับนโยบาย “เบบี้โบนัส” ของประเทศสิงคโปร์ไว้ว่า… รัฐบาลสิงคโปร์จะมีการ ให้โบนัสสำหรับเด็กแรกเกิด เป็นลักษณะ “แบบขั้นบันได” นั่นคือ… พ่อ-แม่จะได้รับเงินจำนวน 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ ๆ 200,000 บาท สำหรับการมีบุตรคนแรก และจะได้รับอีก 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ ๆ 250,000 บาท สำหรับการมีบุตรคนที่ 2 อีกทั้งยังจะได้รับอีก 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับการมีบุตรคนที่ 3 นอกจากนั้นยังมีนโยบาย “ลาคลอดแบบยังได้รับค่าจ้าง” ที่เป็นอีกมาตรการที่ใช้กระตุ้นเพื่อให้คนอยากมีลูก …นี่เป็นข้อมูลนโยบายสิงคโปร์โดยสังเขป

“นโยบายส่งเสริมการมีลูกของสิงคโปร์นั้น สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า… สิงคโปร์ไม่ได้โฟกัสเพียงแค่การจูงใจให้คนสิงคโปร์มีลูกเท่านั้น แต่ยังต้องการให้ประชาชนนั้นอยากมีลูกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 คน” …เป็นการวิเคราะห์ถึง “นโยบายส่งเสริมการมีลูกของสิงคโปร์” ที่นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนไว้ 

ขณะที่อีกหนึ่งกรณีศึกษาเป็น “กรณีศึกษาสาธารณรัฐเช็ก” โดยรัฐบาลสาธารณรัฐเช็ก ก็พยายามแก้ปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนโยบายคือ… นโยบาย “ลาคลอดแบบยืดหยุ่น” ที่เปิดโอกาสให้คุณแม่ทุกคน เลือก “รับเงินรายเดือน” ในระยะเวลาต่าง ๆ ได้ อาทิ… รับเงินรายเดือนในอัตรา ร้อยละ 50 ของรายได้ เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือรับเงินรายเดือนในอัตรา ร้อยละ 33 ของรายได้ เป็นระยะเวลา 3 ปี หรือรับเงินรายเดือนในอัตรา ร้อยละ 33 ของรายได้ นับตั้งแต่คลอดบุตรจนถึงเดือนที่ 21 หรือรับเงินรายเดือน ร้อยละ 17 ของรายได้ ตั้งแต่เดือนที่ 21 จนถึงปีที่ 4 หลังการคลอดบุตร

“นโยบายนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเกิดโดยตรง แต่เพื่อกระตุ้นให้บรรดาคุณแม่นั้นตัดสินใจมีลูกคนที่ 2 เร็วขึ้นมากกว่า” …เป็นอีกส่วนจากการวิเคราะห์และสะท้อนไว้โดย รศ.ดร.มนสิการ เกี่ยวกับนโยบาย “กรณีศึกษาสาธารณรัฐเช็ก” ซึ่งสำหรับกรณีศึกษาสาธารณรัฐเช็กนี้ก็ “เน้นจูงใจด้วยสิทธิในการได้รับเงิน” เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การ “ส่งเสริมให้มีลูก” นั้น นอกจาก “นโยบายจูงใจคุณแม่” แล้ว กับ “มุมของคุณพ่อ” ก็มีหลาย ๆ ประเทศให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน อย่าง… ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ที่เปิดโอกาสให้ “คุณพ่อลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้” เพราะมีการมองเรื่องนี้ว่า… มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อการมีลูกคนที่ 2 ของทุก ๆ ครอบครัว …ซึ่งจากตัวอย่างนโยบายดังที่ว่ามานั้น ก็สะท้อนว่า… การส่งเสริมการมีลูกของรัฐบาลหลายประเทศมีเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัวมาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากยิ่งครอบครัวมีความเท่าเทียมทางเพศมากเท่าใด ก็จะยิ่งส่งผลต่อระดับเจริญพันธุ์ที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ รศ.ดร.มนสิการ ได้ระบุถึง “ความสำคัญ” ของ “นโยบายส่งเสริมการมีลูกของไทย” ไว้ว่า… แนวโน้มการมีบุตรในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 พบว่า…ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ตัดสินใจมีบุตรแค่คนเดียว ขณะที่อีกกว่า 50% ตัดสินใจที่จะไม่มีบุตรคนที่ 2 ซึ่งหากไม่มีการออกนโยบายที่สามารถจูงใจให้ครอบครัวไทยมีบุตรเพิ่มขึ้นได้ ในอนาคตปัญหานี้จะส่งผลกับไทยอย่างแน่นอน

“ไทยเองก็พยายามส่งเสริมการเกิดเช่นกัน แต่ก็ยังไม่สามารถจูงใจคนไทยให้อยากมีลูกเพิ่มได้ ซึ่งแนวทางเพิ่มเงินอุดหนุนให้ครอบครัวที่มีลูกมากขึ้น การลาคลอดที่ยืดหยุ่น การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัว ที่หลาย ๆ ประเทศใช้ได้ผล อาจเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับไทยด้วยเช่นกัน” …ทางนักวิชาการท่านเดิมระบุไว้

“หนุนให้ประชากรมีลูกเพิ่ม” นี่ “ไทยเราก็มีนโยบาย”

แนวทางก็มีที่ “คล้าย ๆ กับโมเดลของต่างประเทศ”

หรือเพราะ “คล้ายแต่ไม่เหมือน…ยังไม่โดนใจ??”

“คุณแม่” ที่ไม่ใช่ “คุณแม๊…” จึง “ยังคงไม่เพิ่ม!!”.