นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า นายฟาน จี๊ ทัญ (Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย และคณะ ได้เข้าพบ เพื่อหารือประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางบก การส่งเสริมการเดินเรือชายฝั่ง ระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม และการขอเพิ่มจำนวนเครื่องบิน (Fleet Application) ของสายการบินเวียตเจ็ท แอร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจเวียดนามในประเทศไทย อย่างไรก็ตามประเทศไทย และเวียดนาม มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาช้านานในหลายระดับ ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการคมนาคมขนส่ง

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่ง ดังนี้ 1.การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางบก ปัจจุบันเวียดนามเปิดประเทศแล้ว ซึ่งไทย และเวียดนาม จะกลับมาพัฒนาความร่วมมือด้านคมนาคมทางบกต่อไป โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมดำเนินการ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน เชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ระหว่างไทย สปป.ลาว และเวียดนาม การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) และโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนนครพนม

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้จะพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบ ให้สอดคล้องกับกรอบความตกลงด้านการคมนาคมของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS และภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกระทรวงคมนาคม เห็นว่าการผลักดันพัฒนาพิธีการศุลกากรให้เป็นมาตรฐานเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งทางบกของรัฐบาลทั้ง 3 ฝ่าย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาการขนส่งทางบกให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ 2. การส่งเสริมการเดินเรือชายฝั่ง (Coastal Shipping) ระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ฝ่ายเวียดนาม ประสงค์ให้มีการขยายเส้นทางการเดินเรือจากเกาะฟูก๊วก (เวียดนาม) มาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งประเด็นนี้เป็นความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีไทย และเวียดนาม ตั้งแต่ปี 57

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ต่อมาไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมสามฝ่าย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการเดินเรือชายฝั่ง และได้ประชุมคณะทำงานร่วมสามฝ่ายไปแล้ว 4 ครั้ง โดยที่ประชุมฯ ได้กำหนดเส้นทางการขนส่ง และการท่องเที่ยวเบื้องต้นในเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ คือ เส้นทางคลองใหญ่ (ไทย)-สีหนุวิลล์ (กัมพูชา)-กัมปอต (กัมพูชา)-ฮาเตียน (เวียดนาม)-ฟูก๊วก (เวียดนาม) โดยระยะแรกการเดินเรือขนส่งชายฝั่งจะเข้าเทียบท่าเฉพาะท่าเรือขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ระหว่างภาคตะวันออกของไทย ภาคใต้ของกัมพูชา และภาคใต้ของเวียดนาม เพื่อเปิดโอกาสให้เรือขนาดเล็กสามารถขยายเส้นทางการค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งทางฝ่ายไทยมีความพร้อมที่จะร่วมประชุมคณะทำงานร่วมสามฝ่าย ครั้งที่ 5 ผ่านทางระบบการประชุมทางไกล เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเส้นทางการเดินเรืออย่างเป็นรูปธรรม

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า 3. ความร่วมมือด้านการบิน ไทยและเวียดนาม ซึ่งสายการบินเวียตเจ็ท แอร์ ได้เสนอขอเพิ่มจำนวนเครื่องบินที่จะทำการบินมายังประเทศไทย เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น ขณะนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อยู่ระหว่างนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน และเมื่อเรื่องดังกล่าวได้รับการอนุมัติ จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจเวียดนามในประเทศไทย