จีนดำเนินการพัฒนาคุณภาพสูง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจ สีโคโนมิคส์ (Xiconomics) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี เติบโต 8.1% เมื่อเทียบอัตราปีต่อปี อยู่ที่ 114 ล้านล้านหยวน (ราว 600.27 ล้านล้านบาท) ซึ่งเท่ากับ 18% ของจีดีพีทั่วโลก

จากรายงานของสำนักข่าวซินหัว ปรัชญาการพัฒนาสีโคโนมิคส์ ซึ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้ชาวจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก แนวทางการพัฒนาที่ถูกออกแบบ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของประเทศ มีเป้าหมายสร้างความเจริญ แก่ชาวจีนทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

รัฐบาลปักกิ่งยังยึดมั่นในนโยบาย เสริมสร้างโลกที่ดีกว่า โดยผ่านการพัฒนาร่วมกัน และความร่วมมือแบบสมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

สีกล่าวในรายงานที่เสนอต่อที่ประชุมแห่งชาติพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 19 เมื่อปี 2560 ว่า จีนกำลังเผชิญกับความขัดแย้ง ระหว่างการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่เพียงพอ

กว๋อ เช็งเสียง นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีน กว่าวถึงแนวคิดสีอีโคโนมิกส์ ซึ่งออกแบบจากการผสมผสาน ความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าของมนุษย์ เข้ากับแนวทางการพัฒนาที่เน้นประชาชน มีอิทธิพลสร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก ในทางปฏิบัติ การปฏิรูปของจีนมีความก้าวหน้า ในหลากหลายด้านที่เป็นความวิตกของประชาชน เช่น ที่พักอาศัย การศึกษาเล่าเรียน และสาธารณสุข

ปี 2564 รายได้สุทธิต่อหัวของประชากรจีน สูงขึ้น 9.1% เมื่อเทียบอัตรารายปี อยู่ที่ 35,128 หยวน (ราว 183,768 บาท) คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วของประชาชนจีน เห็นได้จากหลากหลายแง่มุม เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน ตามภัตตาคารหรู บ้านพักอาศัยหรูหราราคาแพง เงินบำนาญสูงขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ และมลพิษทางอากาศในชุมชนเมืองลดลง ฯลฯ

ท่ามกลางการกีดกันทางการค้าสูงขึ้นทั่วโลก จีนยังคงเดินหน้าเปิดกว้างในระดับสูง ขยายการนำเข้าสินค้าและบริการคุณภาพดีเยี่ยมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

ในปี 2564 มูลค่าการค้าต่างประเทศของจีน พุ่งสู่ระดับ 6.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้น 21.4% จากปีก่อนหน้า และเป็นการสูงขึ้นผ่านหลัก 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก

การส่งออกของจีนในปีที่แล้ว สูงขึ้น 21.2% ส่วนการนำเข้าสูงขึ้น 21.5% เทียบสัดส่วนเท่ากับกว่า 30% ของการเติบโตทั่วโลก ในระยะไม่กี่ปีล่าสุด

นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า เป้าหมายเศรษฐกิจขยายตัวที่ 5.5% ในปี 2565 ซึ่งถือว่าปานกลาง เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกของจีน สามารถบรรลุได้อย่างแน่นอน โดยผ่านความร่วมมือจากหลายฝ่ายในประเทศ

ฮอนสัน โต ประธานบริษัท เคพีเอ็มจี จีนและเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ปรัชญาเศรษฐกิจสีอีโคโนมิคส์ เต็มไปด้วยภูมิปัญญาตะวันออก และจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาโลก หลักการเป็นแนวคิดก้าวหน้า ที่เหมาะสมกับสภาวะแห่งชาติของจีน รวมทั้งแนวโน้มในการพัฒนาของโลก

จากการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ไปสู่การพัฒนาร่วมกันของประเทศต่าง ๆ สีอีโคโนมิคส์ สามารถจัดการกับปัญหา ความจำเป็นและความยุ่งยากในการพัฒนาทั่วโลก โดยผ่านกรอบความร่วมมือหลากหลายของจีน เช่น บีอาร์ไอ (ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง) และแผนการพัฒนาโลก ( Global Development Initiative) เป็นต้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS