ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แปลงเกษตรของ น.ส.วัชรากร พรหมภักดี เลขที่ 16 หมู่ 5 ต.ควนเมา อ.รัษฎา จ.ตรัง นางฉลวย เวียนคำ เกษตรอำเภอรัษฎา พร้อมด้วย น.ส.ปนัดดา จีนประสม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ร่วมกับกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ติดตามผลการใช้ชีวภัณฑ์ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์อย่างง่ายสำหรับเกษตรกร ของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) เพื่อแนะนำการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในการป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา และการใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองให้เกษตรกร ซึ่งแปลงเกษตรแห่งนี้ได้มีการปลูกพริก มะเขือ ถั่วฝักยาว และบวบ เป็นต้น

นางฉลวย กล่าวว่า การลงพื้นที่เยี่ยมเยียนในครั้งนี้ก็เพื่อที่จะแนะนำการควบคุมโรคพืชโดยชีววิธี เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการใช้สารเคมี ประกอบด้วย 3 วิธีคือ วิธีที่ 1 การพ่นสารชีวภัณฑ์ Bs ตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ โดยควรพ่นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อกล้าเริ่มตั้งตัวหลังการย้ายปลูก พ่นครั้งที่ 2 เมื่อออกดอก หลังจากนั้นพ่นทุก 5-7 วัน ในอัตรา 40-50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร, วิธีที่ 2 ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ทางดิน โดยผสมเชื้อสด 1 กิโลกรัม : รำละเอียด 4 กิโลกรัม : ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม โรยรอบโคนต้น ต้นละ 1 กิโลกรัม หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำสะอาด 100-200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลงพืช และวิธีที่ 3 ใช้กับดักกาวเหนียวในแปลงผัก กรณีที่มีศัตรูพืชระบาด ควรติดตั้งกับดักให้สูงประมาณ 30 เซนติเมตร หรือสูงกว่ายอดต้นผักเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว โดยใช้กับดักประมาณ 60-80 กับดัก/พื้นที่ 1 ไร่ ส่วนในฤดูที่มีการระบาดของศัตรูพืชน้อยอาจใช้เพียง 15–20 กับดัก/ไร่