เมื่อวันที่ 23 ก.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 21.00 น. ของวันที่ 22 ก.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ได้ลงพื้นที่เพื่อดูความเรียบในการดูแลประชาชนผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรงที่แยกกักที่บ้าน (Home isolation) และแยกกักในชุมชน (Community isolation) รวมถึงติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยในชุมชนแออัด พื้นที่ที่มีคนไร้บ้านพักอาศัย หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยชุมชนนางลิ้นจี่ซอย2 (ชุมชนพัฒนสิน), ชุมชนตากสินซอย7, ชุมชนเทิดไทย 19, ริมถนนราชดำเนินกลาง
ทั้งนี้การลงพื้นที่ของรองนายกรัฐมนตรีและคณะในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ให้รับกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินแนวทุกแนวทางทางอย่างเต็มที่ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้รอคอยการรักษาอยู่ที่บ้าน รวมถึงจะต้องไม่เกิดกรณีเสียชีวิตบนท้องถนนของประชาชนอีก จะต้องไม่มีประชาชนที่ถูกทอดทิ้ง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การลงพื้นที่ชุมชนในกรุงเทพฯ ครั้งนี้เป็นเพียงครั้งแรกเท่านั้น หลังจากนี้จะยังมีการลงพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ในลักษณะเดียวกันนี้อย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบการทำงานจะมีการเลือกชุมชนเป้าหมายผ่านฐานข้อมูลของสถาบันแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ว่าพื้นที่ใดมีการขอประสานไปรับตัวผู้ป่วยอยู่หนาแน่น ทีมเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูทั้งในแง่การตรวจดูอาการ มอบยาและเวชภัณฑ์ แนะนำกรณีการรักษาตัวอยู่ที่บ้านกรณีผู้ที่มีอาการไม่มาก ส่วนกรณีที่มีอาการมากก็ประสานส่งตัวเข้ารับการรักษา ณ จุดพักคอย โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลบุษราคัม หรือโรงพยาบาลทั่วไป ตามระดับอาการ ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มีการรับตัวผู้ป่วยส่งไปยังโรงพยาบาล 4 ราย และส่วนหนึ่งจะมีการตรวจด้วยวิธี Rapid Antigen Test ให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ที่ประสงค์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย
“การลงพื้นที่ของรองนายกรัฐมนตรีและคณะในครั้งนี้ไม่ได้มีกำหนดการไว้ล่วงหน้า แต่เนื่องมาจากรองนายกรัฐมนตรี ประสงค์ให้มีการปรับการทำงานเพื่อการดูแลประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น คนไร้บ้าน คนในชุมชนแออัด ให้มากที่สุด ซึ่งรูปแบบการทำงานของทีมเจ้าหน้าที่จะมีศูนย์กลางอยู่ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ มีการเลือกพื้นที่จากฐานข้อมูล สพฉ. จากนั้นลงพื้นที่ทั้งตรวจเยี่ยม มอบยา รับผู้ป่วยอาการหนัก และตรวจ rapid test ให้กับประชาชนที่พบเจอ โดยจะดำเนินการรูปแบบนี้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยมีเป้าหมายคือการเข้าไปดูแลกลุ่มเปราะบางให้มากที่สุด ไม่ให้เกิดกรณีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนที่เป็นทั้งความสูญเสียของครอบครัวผู้เสียชีวิตและสร้างความสะเทือนใจให้ประชาชนอีก” น.ส.ไตรศุลี กล่าว.