นางสิริรัตน์ วีรวิศาล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ที่มีปริมาณการใช้รถยนต์อย่างหนาแน่น เช่น กรุงเทพมหานคร การเลือกใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกที่ไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางออกที่จะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ขบ. จึงมีนโยบายสนับสนุนการใช้รถที่ใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ด้วยการจัดเก็บอัตราภาษีรถประจำปีในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติของกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ความเร็วขั้นต่ำรวมถึงส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของรถที่จะจดทะเบียนซึ่งจะต้องมีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถใช้งานบนท้องถนนร่วมกับรถประเภทอื่นได้อย่างปลอดภัย โดยมีรายละเอียดดังนี้

รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร รถยนต์บริการให้เช่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 90 กม./ชม.

นางสิริรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนแบบพิเศษที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 100 กิโลวัตต์ โดยจะต้องติดเครื่องหมาย “e” หรือมีการกำหนดรหัสหรือรุ่นของผู้ผลิตที่แสดงถึงการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถไว้บริเวณท้ายรถอย่างถาวรและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างที่มีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าหรือความเร็วสูงสุดไม่เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กม./ชม. โดยจะต้องติดเครื่องหมาย “s” ไว้บริเวณท้ายรถอย่างถาวร และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ในส่วนของรถยนต์ (จยย.) รับจ้างสามล้อ และรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กม./ชม. และรถ จยย. ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กม./ชม. ขณะที่รถ จยย. สาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ แต่ไม่เกิน 4 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กม./ชม. ทั้งนี้มอเตอร์ไฟฟ้าของรถทุกประเภทข้างต้นจะต้องขับเคลื่อนรถรวมน้ำหนักบรรทุกด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กำหนดได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที

นางสิริรัตน์ กล่าวอีกว่า รถยนต์ไฟฟ้าเมื่อจดทะเบียนกับ ขบ. แล้ว จะเสียภาษีรถประจำปีในอัตราภาษีต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยหากเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน (รถเก๋ง) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะจัดเก็บภาษีตามน้ำหนักของรถตามรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน (รถตู้) เช่น รถเก๋งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 1,510 กิโลกรัม เสียภาษีรถประจำปีตามน้ำหนักของรถตู้ ในอัตราคันละ 1,300 บาท ต่างจากกรณีรถเก๋งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีการจัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ (ซีซี) ส่วนรถตู้ รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล รถ จยย. ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จัดเก็บภาษีในอัตรากึ่งหนึ่ง เช่น รถ จยย. ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เสียภาษีรถประจำปีคันละ 100 บาท แต่รถ จยย. ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะเสียภาษีประจำปีในอัตราคันละ 50 บาท เท่านั้น

ถึงแม้ว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคย แต่ถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีรถประจำปีให้กับเจ้าของรถได้อีกทางหนึ่งด้วย ประชาชนที่สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดของรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถนำมาจดทะเบียนและอัตราภาษีรถประเภทต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก www.dlt.go.th