แม้ว่าจะไม่ใช่วันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ก็นับว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเดือนมีนาคมนี้ เพราะเราทุกคน ในฐานะผู้บริโภคแล้ว ควรตระหนักถึงสิทธิของตนเอง รวมถึงตระหนักรู้และรณรงค์ต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และในวันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ว่ามีความสำคัญอย่างไรกันบ้าง

ประวัติวันสิทธิผู้บริโภคสากล
“สิทธิของผู้บริโภค” ถูกพูดครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2505 โดยประธานาธิบดี John F. Kennedy ซึ่งกล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ 4 ประการ ของผู้บริโภค ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย สิทธิที่จะได้เลือก และสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย

ซึ่งผู้บริโภคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นกลุ่มที่ไม่มีการจัดตั้งตัวแทน จึงทำให้เสียงของผู้บริโภคไม่ถูกรับฟัง

การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของผู้บริโภค
มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของผู้บริโภคครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 โดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumer International, CI) ซึ่งการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ นำมาซึ่งสิทธิของผู้บริโภคที่สำคัญ 8 ประการ อีกทั้งยังสามารถผลักดันให้สหประชาชาติ กำหนดแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคได้ในปี พ.ศ. 2528

และด้วยการรณรงค์เรื่องสิทธิของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดการปรับปรุงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคจากสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งการปรับปรุงแนวทางในครั้งนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ในปัจจุบัน “สหพันธ์ผู้บริโภคสากล” มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 200 องค์กร จาก 115 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยก็มี “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” (มพบ.) เป็นสมาชิกสามัญ

สิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ
The right to satisfaction of basic needs
– สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

The right to safety
– สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ

The right to be informed
– สิทธิที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการเลือกและตัดสินใจ

The right to choose
– สิทธิที่จะได้เลือกซื้อหาสินค้าและบริการจากผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการมากกว่า 1 ราย

The right to be heard
– สิทธิที่จะได้แสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภค

The right to redress
– สิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาเมื่อถูกละเมิดสิทธิ

The right to consumer education
– สิทธิที่จะได้รับความรู้เพื่อการบริโภคอย่างเท่าทัน

The right to a healthy environment
– สิทธิที่จะได้ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี

นอกจากในระดับสากลแล้ว ประเทศยังมีการจัดตั้ง “สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค” (สสอบ.) หรือ The Association of Confederation of Consumer Organisation, Thailand (ACCOT) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในประเทศไทย ในการออกความเห็นต่อนโยบายต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการดำเนินกิจการงานและสนับสนุนที่เกื้อหนุนต่อผู้บริโภคในประเทศไทย

ในฐานะวันสำคัญระดับสากล “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ “เรา” ในฐานะ “ผู้บริโภค” ได้ตระหนักถึงสิทธิอันพึงมีและพึงได้ของตนเอง เรียกร้องและรณรงค์ยุติการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ต่อต้านการผูกขาดสินค้าและบริการ เพราะถือว่าเป็นสิทธิในการเลือกของเรา

รวมถึงการเรียกร้องให้มีการพัฒนากระบวนการเยียวยาความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังล้าหลังในสังคมไทยอยู่มากนัก แม้ว่าผู้บริโภคจะมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจก็ตาม

ข้อมูล : Nationalconsumer, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค