เจมส์ ฟราย ประธานบริษัทที่ปรึกษา ด้านธุรกิจการเกษตร “แอลเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล” กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศเลวร้าย ในอเมริกาใต้และแคนาดา จำกัดอุปทานน้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันเรพซีด หรือน้ำมันคาโนลา ขณะเดียวกัน ก็เกิดภาวะขาดแคลน น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เนื่องจากรัสเซียก่อสงคราม บุกโจมตียูเครน

ยูเครนและรัสเซีย ผลิตน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันมากที่สุด เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก โดย 2 ประเทศมีผลผลิตรวมกันมากถึง 53% ของทั่วโลกในปี พ.ศ. 2561 และข้อมูลผลผลิตในปี 2564/2565 ยูเครนผลิตได้ประมาณ 17.5 ล้านเมตริกตัน ส่วนรัสเซียผลิตได้ 15.5 ล้านเมตริกตัน

ฟรายบอกว่า ราคาน้ำมันปาล์มจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน ผู้บริโภคทั่วโลกเตรียมรับมือได้เลย

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ปรับตัวสูงขึ้นในรอบหลายปี ในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุจากอุปทานติดขัด ผลพวงจากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ซึ่งหากยืดเยื้อก็จะส่งผลกระทบ สร้างความปั่นป่วนต่อตลาดต่อไปอีก

 5 ประเทศที่ผลิตน้ำมันปาล์มมากที่สุดในโลก ในปี 2564/2565 ได้แก่ 1. อินโดนีเซีย 2. มาเลเซีย 3. ไทย 4.โคลอมเบีย และ 5. ไนจีเรีย โดยอินโดนีเซียผลิตได้ 46.89 ล้านตัน มาเลเซีย 18.1 ล้านตัน และไทย 3.2 ล้านตัน

วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา นายมูฮัมหมัด ลุตฟี รัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซีย ราคาน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย ไม่ควรถูกกำหนดโดยตลาดภายนอก ความเห็นมีขึ้น 1 วัน หลังจากมูฮัมหมัดสั่นสะเทือนตลาดโภคภัณฑ์โลกอีกครั้ง ด้วยการประกาศขยายเพดาน ควบคุมการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ขณะที่ราคาในตลาดโลกกำลังพุ่งสูง เนื่องจากสินค้าขาดแคลน

คำสั่งใหม่ บรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซีย จะต้องขาย 30% ของผลผลิตที่มีแผนจะส่งออก ให้ตลาดในประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 20% ส่งผลให้ราคาอ้างอิงที่มาเลเซียพุ่งขึ้น 10%

ราคาน้ำมันปาล็มดิบอ้างอิงของมาเลเซีย ไต่ขึ้น 30% ในปี 2564 ขณะที่ผลผลิตจากอินโดนีเซียและมาเลเซียช้าลง และอุปสงค์ในตลาดโลกฟื้นตัว จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19

ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันปรุงอาหารในอินโดนีเซีย ปรับตัวสูงขึ้น 40% ช่วงเริ่มต้นปีนี้ นั่นทำให้ทางการจาการ์ตาต้องประกาศควบคุมการส่งออก ช่วงปลายเดือน ม.ค. เพื่อพยายามควบคุมราคาที่สูงขึ้น

การขยายเพดาน จำกัดการส่งออกของอินโดนีเซีย ทำให้ราคาของมาเลเซียสูงขึ้นประมาณ 50% ในปีนี้

มูฮัมหมัด กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการแยกราคา ระหว่างตลาดระหว่างประเทศ กับตลาดภายในประเทศ  และต้องทำให้แน่ใจว่า ผลิตภัณฑ์ของอินโดนีเซีย จะเป็นส่วนหนึ่งของเสาหลักเศรษฐกิจโลก และโลกภายนอกไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้

นอกจากจำกัดปริมาณการส่งออกแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังกำหนดเพดานราคา สำหรับน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มโอลีอิน ที่ขายภายในประเทศ เพื่อควบคุมต้นทุนการกลั่นเป็นน้ำมันปรุงอาหาร และยังจำกัดเพดานราคาขายปลีกด้วย

ความเคลื่อนไหวของอินโดนีเซีย มีขึ้นขณะที่นักวิเคราะห์ในแวดวงอุตสาหกรรม กำลังร่วมประชุมสัมนากันอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันพืชสำหรับบริโภค จะยังคงสูงในระดับใกล้สถิติ ในระยะหลายเดือนข้างหน้า ได้ร่วมกันเรียกร้อง ให้อินโดนีเซียผ่อนคลายเป้าหมายไบโอดีเซล เพื่อเปิดทางให้มีการส่งออกมากขึ้น และควบคุมราคา

นายเอดดี มาร์โตโน เลขาธิการสมาคมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ อินโดนีเซียจะมีน้ำมันปาล์ม เพียงพอต่อความต้องการน้ำมันพืชปรุงอาหารภายในประเทศ แม้จะจำกัดเพดานการส่งออก ไว้ที่ 20% และสิ่งที่รัฐบาลควรจะแก้ไขเป็นอันดับแรกก็คือ  ต้องหาให้พบว่าน้ำมันปรุงอาหารหายไปไหน ในกระบวนการกระจายสินค้าทั้งหมด.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS