เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นพ.ริชาร์ด บราวน์ ผอ.โครงการด้านภัยสุขภาพฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลก สำนักงานประจำประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งในบรรยาย “โครงการความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและองค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าด้วยการรับมือและความพร้อมในการจัดการโรคระบาดในประเทศไทย” ผ่านระบบ ZOOM ว่า ในการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก ประเทศไทยควบคุมโรคได้สำเร็จ แต่สถานการณ์ขณะนี้ที่มีการระบาดมาก เนื่องจากไวรัสกลายพันธุ์ หลายคนอาจจะไม่ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีปัญหานี้ แต่ประเทศที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ครอบคลุมมากพอแล้วก็ยังมีการระบาดเพิ่มขึ้นมหาศาล อย่างไรก็ตาม ถึงเชื้อกลายพันธุ์จะแพร่ได้ง่าย แต่ไม่ได้เปลี่ยนมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ดังนั้นต้องดูว่าปีที่แล้วทำเข้มข้นแค่ไหน ตอนนี้ต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นกว่า ประชาชนต้องให้ความร่วมมือในการทำมาตรการป้องกันส่วนบุคคล เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด ทั้งสวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ถ้าทุกคนทำได้อย่างเข้มข้นก็จะสามารถตัดวงจรของการระบาดได้ และทำให้เคิร์ฟถูกตบให้แบนลงได้
พญ.ชุลีพร จิระพงษา นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปีที่แล้วเนื่องจากมีการระบาดไม่ใหญ่ทำให้จัดการได้ดี แต่ขณะนี้มีสายพันธุ์ที่ทำให้รุนแรงขึ้น แพร่เร็วขึ้น วัคซีนรับมือได้น้อยลง ยืนยันว่า ทุกภาคส่วนยังต้องร่วมมือกัน ประชาชนต้องร่วมกันป้องกันตัวเอง ที่ผ่านมาเราอาจจะการ์ดตกบ้าง การระบาดระลอกนี้เลยใหญ่มาก แต่พื้นที่นอก กทม.ระบบสาธารณสุขยังแข็งแรงพอสมควรที่จะรับมือได้ ส่วนกทม.ค่อนข้างยาก ทั้งเรื่องจำนวนประชากรและระบบสาธารณสุขที่มีหลายภาคส่วนทำให้รับมือได้ช้า แต่คิดว่าอีกสักระยะน่าจะจัดการได้ ขณะนี้อยากให้เน้นฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง คือผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ ให้มากที่สุด หวังว่าจะถึงขาลงของเคิร์ฟได้ใน 2-3 เดือนนี้
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การควบคุมโรคที่ผ่านมาเราทำได้ดี ไม่ได้เกิดจากการทำงานฝ่ายเดียว แต่เป็นความร่วมมือของทุกคน แม้ สธ.จะออกมาตรการดีเพียงใดหากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ก็คุมโรคไม่ได้ อาจเกิดการระบาดเหมือนประเทศอื่นซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสายพันธุ์เดลตา เพราะปี 2563 ที่ระบาดในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ใช่เชื้อกลายพันธุ์ แต่เป็นไวรัสปกติ แม้กระทั่งเชื้อกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อัลฟา ประเทศไทยก็ยังรับมือได้ด้วยมาตรการควบคุมโรค เช่น จ.สมุทรสาคร ควบคุมได้โรคสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกคน
“ส่วนเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ไม่ใช่ความผิดพลาดคนทำงาน การกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของมัน การบอกว่าวัคซีนไม่ได้ผลก็ไม่แฟร์กับวัคซีน เพราะวัคซีนเกิดก่อนไวรัสกลายพันธุ์ วันนี้อยากได้วัคซีนที่สนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ก็ยังไม่มี วันนี้ที่ผู้ผลิตกำลังพัฒนาก็เป็นวัคซีนต่อสายพันธุ์เบตา เพราะสายพันธุ์นี้มาก่อน ยังไม่มีเจ้าไหนผลิตวัคซีนที่ตอบสนองต่อสายพันธุ์เดลตา แม้กระทั่งวัคซีนต่อสายพันธุ์เบตาก็ยังต้องรอปลายปีนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปลายปีนี้จะสายพันธุ์อื่นที่กลายพันธุ์ไปมากกว่านี้หรือไม่ เพราะฉะนั้นตัววัคซีนก็ไล่ตามไม่ทันแน่” นพ.นคร กล่าว
นพ.นคร กล่าวว่า อีกประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ คือ แต่ละวัคซีนต้องใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ซิโนแวคใช้เวลา 6 สัปดาห์ในการเกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ดี ส่วนแอสตราเซเนกาใช้เวลาอย่างน้อย 8-10 สัปดาห์ ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัคซีน แต่ไวรัสเมื่อถ่ายทอดโรคใช้เวลา 7 วันก็ฟักตัวเป็นส่วนใหญ่แล้ว ต่อให้มีวัคซีนมากยังไง เมื่อมีการระบาดก็ไม่ทันอยู่ดี เว้นแต่เราฉีดวัคซีนไว้ดักหน้าจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับประเทศใดในโลกนี้ ไม่มีประเทศไหนมีวัคซีนมีเพียงพอที่จะป้องกัน ทุกประเทศเกิดระบาดใหญ่แล้ววัคซีนค่อยมาจัดการ ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป ทุกประเทศชั้นนำ ที่ต้องทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ เพราะวัคซีนมีจำกัด การที่เราจัดหาวัคซีนไม่ทันต่อสถานการณ์ก็เป็นสถานการณ์ที่เป็นจริง และทุกประเทศก็เป็น
นพ.นคร กล่าวว่า ตอนนี้เราทำงานกันอย่างเต็มที่ ควบคุมโรคสอบสวนโรคอย่างเต็มที่ไม่ได้ย่อหย่อน แต่ผลก็ยังเป็นอย่างที่เห็น มองออกไปทุกประเทศมีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ทั้งสิ้น เพียงแต่ประเทศไหนที่มีไวรัสกลายพันธุ์แล้วเวลานี้มีวัคซีนครอบคลุมที่ดี ก็ได้รับผลกระทบไม่มาก เช่น อังกฤษ เกิดระบาดใหญ่อีกครั้ง ติดเชื้อรายวัน 4 หมื่นคน แต่ผู้เสียชีวิตน้อย แสดงว่าวัคซีนได้ผลป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญในประเทศไทยต้องเน้นฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม น้ำหนักเกิน หญิงตั้งครรภ์เพื่อลดอาการรุนแรงของโรค ลดเสียชีวิต ลดภาระของ รพ.ที่ดูแลผู้ป่วยหนัก วัคซีนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวคหรือแอสตราฯ ทั้ง 2 ตัวยังช่วยป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ดีทั้งคู่ แม้เป็นไวรัสกลายพันธุ์ จึงต้องเน้นฉีดกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุมเร็วที่สุด ถึงจะมีจุดเปลี่ยน คือมีผู้ป่วยเยอะได้ แต่ผู้ป่วยอาการหนักลดลง ย้ำว่าการควบคุมโรคไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยภาครัฐ ต้องการความร่วมมือของประชาชนเข้มข้นเข้มงวดในมาตรการป้องกันควบคุมโรคเฉพาะบุคคลเราจึงผ่านวิกฤติได้.