เมืองไทยในปี 2565 นี้ยังไม่ทันจะผ่านเดือนที่ 3 ก็มี “เหตุการณ์เกี่ยวกับภัย” รูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นกับคนไทยเราไม่น้อยแล้วดังที่ทราบ ๆ กัน… ซึ่งกับเหตุการณ์เกี่ยวกับภัยนั้น ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ที่ประสบภัย แม้ว่าจะผ่านมาได้…บางทีบางคนอาจจะผ่านได้ไม่เบ็ดเสร็จจริง ๆ อาจจะผ่านแค่ทางกาย…หากแต่ “จิตใจยังคงติดหล่มเหตุการณ์ร้าย ๆ” บางทีบางคนอาจจะ “ยังรู้สึกหวาดผวา!!-ยังรู้สึกขวัญผวา!!” กับเหตุการณ์ที่ประสบ ซึ่งในมุม “สภาพจิตใจ” นี่ก็ “มองข้ามไม่ได้!!”…

จำเป็นจะต้องมีการดูแลเยียวยาและฟื้นฟูให้ดี…

ควรต้องเร่งลบภาพร้าย ๆ หลังผ่านเหตุขวัญผวา

ทั้งนี้ กับผู้ที่ผ่านการประสบภัย กับผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นภัยแบบใด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ร้ายแบบไหน คนใกล้ชิด-คนใกล้ตัวควรต้องให้ความสำคัญกรณีสภาพจิตใจหลังผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญด้วย ควร ต้องเฝ้าสังเกตสภาพจิตใจ ถ้าเห็นท่าไม่ดีต้องรีบช่วยให้ได้รับการบำบัดด้านจิตใจ ไม่เช่นนั้นอาจจะลุกลามบานปลายได้!! อาจจะเกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิด แม้ว่าจะรอดจากเหตุการณ์มาได้ อาจจะเกิด “โรคเครียดรุนแรงหลังเหตุสะเทือนขวัญ”

เกี่ยวกับโรคเครียดรุนแรงหลังเหตุสะเทือนขวัญหรือ “โรคพีทีเอสดี (PTSD)” วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนข้อมูลที่คนไทยก็น่าจะได้พิจารณากันไว้ในวงกว้าง โดยทาง สมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ได้จัดทำบทความให้ความรู้ความเข้าใจไว้ ได้อธิบายถึงโรคดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กของสมาคมฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับประชาชนทั่วไป โดยเริ่มจากการให้คำจำกัดความ “เหตุการณ์รุนแรง” ว่าหมายถึง เหตุการณ์ที่เป็นอันตราย ที่อาจทำให้ถึงชีวิตหรือไม่ถึงชีวิตก็ได้ ซึ่งผู้ที่ประสบเหตุและผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงมา บางคนอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบด้านจิตใจ อาจจะไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่…ในกลุ่มของ ผู้ที่ยังรู้สึกสะเทือนขวัญ…ยังรู้สึกขวัญผวา…อาจจะมีความ ’เสี่ยง“ เข้าข่าย “เกิดภาวะโรคพีทีเอสดี”

ทางสมาคมสุขภาพจิตฯ ได้ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า… ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดอาการของโรคพีทีเอสดีนี้ อาจจะเริ่มต้นจาก… รู้สึกมึนชา เหมือนไม่มีความรู้สึก หรือในบางกรณี ในบางคน อาจจะ… รู้สึกเศร้า หดหู่ เริ่มนอนไม่หลับ หรือในบางครั้งอาจจะ… นอนฝันร้าย รู้สึกใจสั่น ๆ ซึ่งโดยปกติถ้าอาการไม่รุนแรง อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็จะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 วัน นับจากวันที่ได้ผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ มา และก็จะหายไปได้เองเมื่อสภาพจิตใจกลับสู่สภาวะปกติได้

แต่… ที่จะเป็นปัญหาคือกลุ่มที่เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ภายหลังรอดชีวิต หรือหลังผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ มา โดย “สัญญาณเตือน” ที่แสดงออกมาว่าเข้าข่ายเกิดอาการ “โรคพีทีเอสดี” ได้แก่… เริ่มฝันร้ายมากขึ้น จนเหมือนภาพเหตุการณ์นั้นยังคงติดตาอยู่เสมอ, อารมณ์ผิดปกติไปจากเดิม เช่น รู้สึกเศร้าหรือหดหู่มากกว่าปกติ หวาดกลัว หรือรู้สึกแย่ทุกครั้งที่ดูข่าวเหตุการณ์
ที่คล้ายกัน, นอนไม่หลับ ตกใจง่าย หรือรู้สึกตื่นกลัวมากกว่าเดิม รวมถึงบางคนอาจจะรู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยนไปนับจากวันที่รอดชีวิตหรือรอดจากเหตุการณ์ร้าย ๆ ในวันนั้น โดยที่มี “ข้อสังเกต” สำหรับใช้เพื่อ “ระวัง” คือ…

เวลาผ่านไปนานอาการเหล่านี้ก็ไม่หาย-ไม่ลดลง…

ให้สันนิษฐานว่าคน ๆ นั้นอาจกำลังเป็นพีทีเอสดี?

และสำหรับ “โรคพีทีเอสดี” นี้ ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเดิมยังได้ระบุไว้ว่า… “ผู้ที่เกิดอาการพีทีเอสดี” มักจะ “มีปัญหากระทบ
ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน”
ซึ่งภาวะนี้เป็นความผิดปกติทางด้านจิตใจชนิดหนึ่ง โดย พีทีเอสดีมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบเหตุการณ์รุนแรง เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน รถชน เรือล่ม ไฟไหม้ ภัยธรรมชาติ ฯลฯ โดยรอดจากเหตุการณ์นั้น ๆ มาได้ ซึ่งภาวะนี้ เกิดได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอาการบาดเจ็บทางร่างกาย ที่สำคัญ…ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ในผู้ที่เกิดภาวะนี้ก็คือ…ผู้มีอาการพีทีเอสดีจำนวนมากไม่ได้มีการไปพบแพทย์ เพราะหลายคนเมื่อเกิดอาการเข้าข่ายในลักษณะนี้ขึ้น ส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าเป็นเพราะตัวเองจิตใจอ่อนแอ เพราะไม่เข้าใจเกี่ยวกับภาวะอาการดังกล่าวนี้

กับอาการ “พีทีเอสดี” นั้น ทาง สมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ยังระบุไว้อีกว่า… ลักษณะอาการมักจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ กล่าวคือ… 1.มักจะนึกถึงเหตุการณ์วนเวียนซ้ำ ๆ หรือรู้สึกเหมือนกับเหตุการณ์ร้ายนั้นตามมาหลอกหลอนตลอดเวลา 2.มักจะมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสิ่งที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สืบต่อจากการนึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ และ 3.มักจะมีอาการตื่นกลัวบ่อย ๆ โดยมีอาการร่วมคือ นอนไม่หลับ ใจสั่น หงุดหงิดโมโหง่าย ไม่มีสมาธิ ตกใจง่าย กลัวสิ่งต่าง ๆ ง่ายกว่าปกติ เช่น บางคนแค่ได้ยินเสียงดังก็สะดุ้งตกใจ ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ทั้งนี้ กับโรคนี้ก็มี “คำแนะนำที่ควรพิจารณา”  คือ… โดยปกติอาการโรคพีทีเอสดีมักเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกหลังผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ มา แต่ด้วยความที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ารับการบำบัดรักษา เพราะเข้าใจว่าเกิดจากตนเองจิตใจอ่อนแอ ทำให้อาการมักจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภาวะเครียด ซึ่งโรคพีทีเอสดีส่วนใหญ่จะเป็นแบบเรื้อรัง ดังนั้น หากเกิดอาการดังที่ว่ามาก็ควรไปขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ ซึ่ง ถ้าเข้าข่ายก็ควรรีบบำบัดรักษา ถ้าไม่ได้รับการบำบัดรักษา หรือปล่อยไว้นานไป อาจลุกลามกลายเป็น “โรควิตกกังวล” หรือ “โรคซึมเศร้า” อาจทำให้เกิด “กรณีน่าเศร้า” ขึ้น…

“ผู้ป่วยพีทีเอสดีที่ไม่ได้รักษา” นั้นมีข้อมูลน่าตกใจ

มีการ “พยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ 14 เท่า”

ดังนั้น “ต้องระวัง” เกิด “โศกนาฏกรรมซ้ำซ้อน!!” .